การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดไข้ และแก้ปวดของน้ำมันเมล็ดสวาดในหนูแรท ด้วยการเหนี่ยว นำให้เกิดการอักเสบด้วยสารคาราจีแนน เหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยเชื้อยีสต์ และเหนี่ยวนำให้เกิดอาการปวดด้วยกรดอะซิติก และแผ่นความร้อน พบว่าน้ำมันเมล็ดสวาด ขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. เมื่อป้อนให้หนูแรทก่อนที่จะเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าหนูด้วยสารคาราจีแนน สามารถลดการอักเสบที่อุ้งเท้าหนูได้ในชั่วโมงที่ 2-4 หลังได้รับน้ำมันเมล็ดสวาด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับสารคาราจีแนนอย่างเดียว ซึ่งฤทธิ์ลดการอักเสบของน้ำมันเมล็ดสวาดมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน phenylbutazone ขนาด 100 มก./กก. ในส่วนของฤทธิ์ลดไข้ของน้ำมันเมล็ดสวาด โดยการเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยเชื้อยีสต์ใน 18 ชม. หลังจากนั้นป้อนน้ำมันเมล็ดสวาดขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. พบว่าน้ำมันเมล็ดสวาดทั้ง 3 ขนาด มีฤทธิ์ลดไข้ตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังได้รับน้ำมันเมล็ดสวาด และคงอยู่ภายใน 4 ชม. เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ให้แต่น้ำเกลือ และฤทธิ์ลดไข้ของน้ำมันเมล็ดสวาดมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน paracetamol 100 มก./กก. ในขณะที่ฤทธิ์ลดปวดของน้ำมันเมล็ดสวาดเมื่อเหนี่ยวนำให้เกิดอาการปวดด้วยกรดอะซิติก พบว่าน้ำมันเมล็ดสวาดขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. สามารถยับยั้งอาการปวดได้ 16.7, 27.9 และ 48.6% ตามลำดับ ซึ่งยาแผนปัจจุบัน aspirin 100 มก./กก. สามารถยับยั้งอาการปวดได้ 66.5% ส่วนฤทธิ์ลดปวดของน้ำมันเมล็ดสวาดเมื่อเหนี่ยวนำให้เกิดอาการปวดด้วยแผ่นความร้อน พบว่าน้ำมันเมล็ดสวาดทุกขนาดสามารถลดอาการปวดได้ โดยเพิ่มระยะเวลาความทนต่อความร้อนได้มากขึ้น ซึ่งใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบัน morphine 5 มก./กก. และมีฤทธิ์เพิ่มมากขึ้นเมื่อให้ร่วมกันระหว่างน้ำมันเมล็ดสวาดกับ morphine จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าน้ำมันเมล็ดสวาดมีศักยภาพในการที่จะนำไปใช้เป็นสารต้านการอักเสบ ลดไข้ และลดอาการปวดได้
Food and Chemical Toxicology 2010;48:61-4.