ความปลอดภัยของสารสกัดเมล็ดมะละกอเพื่อใช้เป็นยาคุมกำเนิดในหนูแรทเพศผู้

การศึกษาในหนูแรท 50 ตัว โดยแบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มประกอบด้วยหนูแรทเพศผู้ และเพศเมีย อย่างละ 5 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมป้อนน้ำมันมะกอก 500 มก./กก./.วัน กลุ่มที่ 2-5 เป็นกลุ่มที่ป้อนสารสกัดเมล็ดมะละกอด้วยเมทานอล ขนาด 50, 100, 250 และ 500 มก./กก./.วัน ตามลำดับ นาน 52 สัปดาห์ พบว่าไม่พบความแตกต่างของน้ำหนักร่างกายในทุกกลุ่ม แต่น้ำหนักต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (seminal vesicle) และต่อมลูกหมากในทุกกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเมล็ดมะละกอมีน้ำหนักลดลงเมื่อเปรียบ เทียบกับกลุ่มควบคุม ในขณะที่น้ำหนักของอัณฑะในกลุ่มที่ 3-5 เพิ่มขึ้น ส่วนน้ำหนักของหลอดเก็บอสุจิ (epididymis) ในกลุ่มที่ 2-4 ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนฮอร์โมนเพศชาย testosterone ในกลุ่มควบคุมมีค่าเท่ากับ 3.23 ± 0.63 นาโนกรัม/มล. ในขณะที่หนูกลุ่มที่ได้รับสารสก้ดเมล็ดมะละกอด้วย เมทานอล ขนาด 50, 100, 250 และ 500 มก./กก./.วัน ระดับฮอร์โมนเพศชาย testosterone มีค่าเท่ากับ 2.92 ± 0.37, 2.67 ± 0.72, 3.02 ± 0.45 และ 3.09 ± 0.29 นาโนกรัม/มล. ตามลำดับ ส่วนจำนวนตัวอสุจิ การเคลื่อนที่ การมีชีวิตอยู่รอด และความผิดปกติของอสุจิของกลุ่มควบคุม มีค่าเท่ากับ 24.2 ± 1.93 ล้านตัว/มล., 67 ± 1.99%, 70 ± 1.30% และ 24 ± 1.99% ตามลำดับ ในขณะที่หนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเมล็ดมะละกอขนาด 50 มก./กก./.วัน จำนวนตัวอสุจิลดลงถึง 4.2 ± 1.93 ล้านตัว/มล. สูญเสียการเคลื่อนที่ทั้งหมด การมีชีวิตอยู่รอดลดลงถึง 12 ± 0.64% และเพิ่มความผิดปกติของตัวอสุจิถึง 61 ± 0.76% ส่วนกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเมล็ดมะละกอขนาด 100, 250 และ 500 มก./กก./.วัน พบว่าจำนวนอสุจิน้อยมากหรือเกือบไม่มีอสุจิเลย ส่วนผลการศึกษาในหนูเพศเมียไม่พบความแตกต่างของระบบสืบพันธุ์ในหนูทุกกลุ่ม ผลการศึกษาเกี่ยวกับระดับของเอนไซม์ในเลือดที่ดูการทำงานของตับ (SGOT, SGPT, bilirubin, cholesterol, HDL, triglycerides) การทำงานของไต (creatinine) ไม่พบความผิดปกติในหนูที่ได้รับสารสกัดเมล็ดมะละกอเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัดเมล็ดมะละกอด้วยเมทานอลขนาด 50, 100, 250 และ 500 มก./กก./.วัน มีผลใช้เป็นยาคุมกำเนิดในหนูแรทเพศผู้ได้ซึ่งค่อนข้างปลอดภัยหากต้องใช้ในระยะยาว โดยไม่มีผลข้างเคียง

J Ethnopharmacol 2010;127:286-91