การทดสอบฤทธิ์ของสาร caffeoylquinic acid (CQA) ในสารสกัดเอทิลอะซิเตตของมันเทศสีม่วง (Ipomoea batatas ) (PSP) ที่มีสาร anthocyanin (PSPEa) หรือไม่มีสาร anthocyanin (PSPEb) ในหนูเม้าส์เพศผู้ที่มีความผิดปกติของการเรียนรู้และการจำจากการเหนี่ยวนำเร่งให้เกิดภาวะแก่ (senescence-accelerated prone mouse strain; SAMP8) และหนูเม้าส์ที่มีภาวะแก่ตามปกติ (senescence-accelerated resistant mice; SAMR1) โดยหนูจะถูกแบ่งเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 5 ตัว โดยกลุ่มที่ 1 และ 3 เป็นกลุ่มควบคุม ประกอบด้วยหนู SAMR1 และ SAMP8 ตามลำดับ เปรียบเทียบกับกลุ่มทดลอง คือหนูกลุ่ทที่ 2 เป็นหนู SAMR1 ที่ได้รับ PSPEa, กลุ่มที่ 4 เป็นหนู SAMP8 ที่ได้รับ PSPEa และกลุ่มที่ 5 เป็นหนู SAMP8 ที่ได้รับสารสกัด PSPEb โดยหนูกลุ่มทดลองจะได้รับ PSPEa และ PSPEb ในขนาด 20 มก./กก./วัน ผสมกับน้ำประปาและป้อนด้วยหลอดฉีดยาทางปาก เป็นเวลา 30 วัน ในขณะที่กลุ่มควบคุมจะได้รับเพียงน้ำประปาในปริมาณที่เท่ากัน การทดสอบการเรียนรู้และความจำด้วยวิธี Morris Water Maze (MWM) พบว่าหนูกลุ่มที่ 4 (SAMP8 + PSPEa) และกลุ่มที่ 5 (SAMP8 + PSPEb) ใช้เวลาออกจากเขาวงกตน้อยกว่ากลุ่มที่ 3 (SAMP8; กลุ่มควบคุม) แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ 1 (SAMR1; กลุ่มควบคุม) และกลุ่มที่ 2 (SAMR1 + PSPEa) นอกจากนี้ยังพบว่าในสมองของหนู SAMP8 ที่ได้รับ PSPEa มีการเพิ่มการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ การเผาผลาญพลังงาน และมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์สมอง และการทดสอบในเซลล์สมอง SH-SY5Y (human neuroblastoma SH-SY5Y cell) พบว่าทั้ง PSPEa และ PSPEb สามารถเพิ่มการแบ่งตัวและการสร้าง ATP ในเซลล์สมอง เมื่อเทียบกับเซลล์ที่ไม่ได้รับสารทั้ง 2 โดย PSPEa จะสามารถเพิ่มการสร้าง ATP ได้มากกว่า PSPEb และสารทั้ง 2 ชนิดยังลดการสร้าง reactive oxygen species (ROS) ภายในเซลล์สมอง SH-SY5Y ที่ให้เปปไทด์บีต้าอะมีลอยด์ (Aβ1−42) ซึ่งมีความเป็นพิษต่อเซลล์สมอง ส่งผลให้การรอดชีวิตของเซลล์สมอง SH-SY5Y เพิ่มขึ้น จากผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า PSP ซึ่งอุดมไปด้วย CQA ที่มีหรือไม่มีสารในกลุ่ม anthocyanin มีฤทธิ์ปกป้องสมองหนูและสามารถช่วยบรรเทาความผิดปกติของการเรียนรู้และความจำให้หนูได้
J Agric Food Chem 2013;61:5037-45