การทดสอบฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของสารแคปไซซินอยด์ซึ่งเป็นสารสำคัญในพริก โดยการให้สารแคปไซซินอยด์ขนาด 10 มก./กก. น้ำหนักตัว แก่หนูแรท 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 ได้รับอาหารที่ไม่มีคอเลสเตอรอล และกลุ่มที่ 2 ได้รับอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง (มีคอเลสเตอรอลในอาหาร 20 ก./กก. น้ำหนักอาหาร) พบว่าสารแคปไซซินอยด์ลดการสร้างเอนไซม์ hepatic 3-hydroxyl-3-methylglutaryl CoA (HMG-CoA) reductase และ hepatic cholesterol-7α-hydroxylase (CYP7A1) ได้ 0.55 เท่า และ 0.53 เท่าตามลำดับ ในหนูกลุ่มที่ 1 แต่เพิ่มระดับของ CYP7A1 1.38 เท่า ในหนูกลุ่มที่ 2 อีกทั้งยังเพิ่มการแสดงออกของโปรตีนที่จับกับกรดน้ำดี (bile acid) และ apical sodium-dependent bile acid transporter ที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum) ส่งผลให้การดูดกลับกรดน้ำดีบริเวณลำไส้เล็กเพิ่มขึ้น แต่จากผลการทดลองพบว่าหนูกลุ่มที่ 2 มีการขับน้ำดีออกทางอุจจาระของเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลของสารแคปไซซินอยด์ไม่เกี่ยวข้องกับกลไกดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่าสารแคปไซซินอยด์มีผลลดปริมาณของกรดน้ำดีในอุจจาระและลำไส้เล็กของหนูกลุ่มที่ 1 แต่จะเพิ่มปริมาณของกรดน้ำดีในอุจจาระและลำไส้เล็กของหนูกลุ่มที่ 2 ด้วย จากผลการทดลองข้างต้นทำให้สามารถสรุปได้ว่า ฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลของสารแคปไซซินอยด์ในหนูกลุ่มที่ได้รับอาหารที่ไม่มีคอเลสเตอรอล (กลุ่มที่ 1) เกิดจากการยับยั้งการสร้างคอเลสเตอรอลในตับ ในขณะที่ฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลของสารแคปไซซินอยด์ในหนูกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง (กลุ่มที่ 2) เกิดจากการกระตุ้นการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลให้กลายเป็นกรดน้ำดีและเพิ่มการขับออกทางอุจจาระ ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์ยังต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติม
J Agric Food Chem 2013;61:4287 - 93