ประโยชน์ต่อสุขภาพของดอกไม้ไทย

เมื่อนำสารสกัดน้ำของดอกไม้ 4 ชนิด ที่ประชาชนในแถบภาคเหนือของไทยนำมารับประทานเป็นอาหาร ได้แก่ ดาวเรือง ดาวกระจาย พวงชมพู และเฟื่องฟ้า มาศึกษาฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี Ferric Reducing Antioxidant Power (FRAP assay), Cellular Antioxidant Activity (CAA assay) และ Oxygen Radical Absorbance Capacity (ORAC assay) พบว่าสารสกัดดอกดาวเรืองจะมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระดีที่สุด เมื่อทดสอบด้วยวิธี FRAP และ CAA assay ขณะที่สารสกัดดอกพวงชมพู จะมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระดีที่สุด เมื่อทดสอบด้วยวิธี ORAC จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเอทานอลจากดอกไม้ทั้ง 4 ชนิด พบว่าส่วนใหญ่เป็นพวกกรดฟีนอลิก และฟลาโวนอยด์ โดยดอกดาวเรืองจะมีกรดฟีนอลิกสูงกว่าดอกอื่นๆ ประมาณ 3 - 4 เท่า ในการทดลองฤทธิ์ในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ HT-29 เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร และเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี BL-13 พบว่าสารสกัดน้ำจากดอกดาวเรือง พวงชมพู และเฟื่องฟ้า มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งทั้ง 3 ชนิดได้ ขณะที่สารสกัดดอกดาวกระจายไม่มีผล สารสกัดดอกดาวเรืองจะมีฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ (IC50 เท่ากับ 1.5 mg/ml) ขณะที่สารสกัดดอกพวงชมพูจะมีฤทธิ์ดีที่สุดต่อเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร และเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี (IC50 เท่ากับ 0.2 และ 0.9 mg/ml ตามลำดับ) นอกจากนี้สารสกัดดอกดาวเรืองยังมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase และสารสกัดดอกดาวเรือง ดาวกระจาย และเฟื่องฟ้ามีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ pancreatic lipase (เอนไซม์ช่วยย่อยไขมันจากตับอ่อน) ได้ การศึกษานี้แสดงถึงประโยชน์ของสารสกัดจากดอกไม้ที่รับประทานได้ในไทย โดยมีผลในการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเซลล์มะเร็งได้

Food Research International 2012;46:563-71.