ลดความดันด้วยเปปไทด์จากมันเทศ

การศึกษาฤทธิ์ยับยั้ง angiotensin-I-converting enzyme (ACE) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีผลเกี่ยวข้องกับความดันโลหิต โดยเปปไทด์ที่แยกได้จากน้ำคั้นมันเทศ (sweetpotato peptide: SPP) มีฤทธิ์ยับยั้ง ACE ได้ดี มีค่า IC50 เท่ากับ 18.2 มคก./มล. และเมื่อนำไปทดสอบฤทธิ์ลดความดันโลหิตในหนูแรทที่มีความดันโลหิตสูง (spontaneously hypertensive rat) โดยป้อน SPP ขนาด 100 และ 500 มก./กก. น้ำหนักตัว พบว่าความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (systolic blood pressure) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ที่เวลา 4 ชั่วโมงและ 8 ชั่วโมงหลังจากได้รับ SPP ในขนาด 500 และ 100 มก./กก. ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม SPP ไม่มีผลลดความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว (diastolic blood pressure) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม จากการวิเคราะห์ลำดับกรดอะมิโนของเปปไทด์ที่ได้จากมันเทศ พบว่าประกอบด้วยกรดอะมิโนสายสั้นๆ ได้แก่ I-T-P, I-I-P, G-Q-Y และ S-T-Y-Q-T ซึ่งมีค่า IC50 ในการยับยั้ง ACE เท่ากับ 9.5, 80.8, 52.3 และ 300.4 มคก./มล. ตามลำดับ จะเห็นได้ว่ามันเทศสามารถใช้ลดความดันโลหิตโดยมีสายเปปไทด์ I-T-P เป็นหลักในการออกฤทธิ์ยับยั้ง angiotensin-I-converting enzyme

Food chem 2012; 131:774-9