สารสกัดจากกระชายดำปกป้องหัวใจ

การศึกษาผลของสารสกัดจากกระชายดำที่สกัดด้วยเอทานอลต่อการทำงานของหลอดเลือดแดงใหญ่และหัวใจหนูแรทที่แยกจากตัวสัตว์ทดลอง พบว่าสารสกัดจากกระชายดำ ขนาด 10-6-10-3 มคก./มล. ทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่ขยายตัว โดยการคลายตัวของหลอดเลือดเปลี่ยนแปลงตามความเข้มข้นของสารสกัดที่เพิ่มขึ้น การศึกษากลไกของสารสกัดจากกระชายดำต่อการขยายตัวของหลอดเลือดแดง พบว่าสารสกัดจากกระชายดำออกฤทธิ์ต่อเซลล์เอนโดทีเลียม (endothelium) โดยกระตุ้นการทำงานของ guanylate cyclase และ nitric oxide syntase (NOS) แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ cyclooxygenase (COX) ซึ่งเอนไซม์ทั้ง 3 ชนิดนี้มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด สารสกัดจากกระชายดำยังออกฤทธิ์ต่อเซลล์กล้ามเนื่อเรียบโดยตรง โดยยับยั้งการไหลเข้าของแคลเซียมไอออนเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งส่งผลให้หลอดเหลือดขยายตัวตามมา นอกจากนี้สารสกัดจากกระชายดำยังลดอนุมูลอิสระอีกด้วย ส่วนการศึกษาในหัวใจของหนูแรทที่แยกจากตัวสัตว์ทดลองให้มีการขาดเลือดหรือสารละลายไปเลี้ยง โดยทำให้หัวใจขาดสารละลาย Kerbs-Henseleit ไปเลี้ยง 20 นาที แล้วให้สารละลายกลับไปเลี้ยงหัวใจ (reperfusion) 30 นาที พบว่าความดันไดแอสโตลิกสุดท้ายของหัวใจห้องล่างซ้าย (LVEDP) ของหัวใจที่มีการขาดเลือด มีค่าเพิ่มขึ้น แสดงถึง preload หรือปริมาณเลือดที่คั่งค้างอยู่ในหัวใจห้องล่างซ้ายเพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนแปลงความดันต่อเวลาของหัวใจห้องล่างซ้าย (dP/dt) มีค่าลดลง แสดงถึงแรงในการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายลดลง ขณะที่ในหัวใจของหนูแรทที่มีการขาดเลือดและได้รับสารสกัดจากกระชายดำ ขนาด 100 ไมโครกรัม/มล. มีการทำงานดีขึ้น โดยมีค่า LVEDP ลดลง และค่า dP/dt เพิ่มขึ้น สรุปได้ว่า สารสกัดจากกระชายดำมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ขยายหลอดเลือด และทำให้การทำงานของหัวใจหนูแรทดีขึ้น

J Ethnopharmacology 2011;137:184-91