การศึกษาผลของการรับประทานน้ำมันจากพืชสามชนิดได้แก่ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน และการรับประทานน้ำมันสูตรผสมระหว่าง น้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันดอกทานตะวัน ต่อระดับไขมันในเลือดในหนูแรทเพศผู้ 20 ตัว โดยทำการทดลองแบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ตัว กลุ่มที่ 1 ให้อาหารที่ผสมกับน้ำมันมะพร้าว กลุ่มที่ 2 ให้อาหารที่ผสมกับน้ำมันดอกทานตะวัน กลุ่มที่ 3 ให้อาหารที่ผสมกับน้ำมันถั่วเหลือง กลุ่มที่ 4 ให้อาหารที่ผสมกับน้ำมันสูตรผสมระหว่างน้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันดอกทานตะวัน และกลุ่มที่ 5 ให้อาหารที่ผสมกับน้ำมันสูตรผสมระหว่างน้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันถั่วเหลือง (อาหารที่ให้หนูทุกกลุ่มคืออาหารสูตรมาตรฐาน AIN-76) เมื่อเลี้ยงครบ 60 วัน ทำการเก็บตัวอย่างเลือด ตับ หัวใจ และเนื้อเยื่อไขมัน เพื่อวัดค่าไขมันที่เปลี่ยนแปลงไป
ผลการวิเคราะห์ค่าเลือดพบว่าหนูแรทกลุ่มที่ได้รับอาหารผสมมะพร้าวเพียงอย่างเดียว มีระดับคอเลสเตอรอล ในเลือดสูงที่สุด เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับอาหารผสมน้ำมันดอกทานตะวันหรือน้ำมันถั่วเหลืองอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงชนิดเดียว และเมื่อพิจารณาค่าเลือดในหนูแรทกลุ่มที่ได้รับอาหารผสมน้ำมันสองชนิดพบว่าการผสมน้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันดอกทานตะวัน หรือน้ำมันถั่วเหลืองมีผลทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของหนูลดลง 5% และ 21% ตามลำดับเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับอาหารผสมน้ำมันมะพร้าวเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ผลการวัดค่าไขมันในตับพบว่ามีแนวโน้มไปในทางเดียวกับผลการวิเคราะห์ค่าไขมันในเลือด ยกเว้นหนูแรทกลุ่มที่ได้รับอาหารที่ผสมน้ำมันสูตรผสมระหว่างน้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันถั่วเหลือง ที่พบว่ามีค่าโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และฟอสโฟไลปิดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และไม่มีนัยสำคัญในทางสถิติ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับอาหารผสมน้ำมันมะพร้าวเพียงอย่างเดียว และผลการวิเคราะห์องค์ประกอบของไขมันในตับ เนื้อเยื่อหัวใจ และเนื้อเยื่อไขมันพบว่า หนูแรทกลุ่มที่ได้รับอาหารผสมน้ำมันสองชนิดทั้งแบบน้ำมันมะพร้าวผสมกับน้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันมะพร้าวผสมน้ำมันถั่วเหลือง มีอัตราส่วนของกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ได้รับอาหารผสมน้ำมันมะพร้าวเพียงอย่างเดียว ผลการทดลองที่ได้แสดงให้เห็นว่าการรับประทานน้ำมันมะพร้าวผสมน้ำมันดอกทานตะวันหรือน้ำมันถั่วเหลือง มีผลในการลดไขมันได้ดีกว่าการรับประทานน้ำมันมะพร้าวเพียงอย่างเดียว
Food Chem. 2010; 123: 728-33.