การศึกษาฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวกลมของสารสกัดน้ำและสารสกัด butanol จากส่วนเปลือกสีเขียวของมะพร้าว ในหนูเมาส์พันธุ์ swiss albino เพศผู้ 36 ตัว ซึ่งตรวจวิเคราะห์อุจจาระแล้วพบว่าติดพยาธิชนิด Syphacia obvelata และ Aspiculuris tetraptera ในการทดลอง แบ่งหนูออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว ให้สารสกัดเปลือกมะพร้าวและยาถ่ายพยาธิแก่หนูทั้งหกกลุ่มด้วยวิธีป้อนเข้ากระเพาะ (intragastric route) ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ให้สารสกัดน้ำเปลือกมะพร้าวขนาด 1000 มก./กก. กลุ่มที่ 2 ให้สารสกัดน้ำเปลือกมะพร้าวขนาด 2000 มก./กก. กลุ่มที่ 3 ให้สารสกัด butanol เปลือกมะพร้าว ขนาด 500 มก./กก. กลุ่มที่ 4 ให้สารสกัด butanol เปลือกมะพร้าว ขนาด 1000 มก./กก. กลุ่มที่ 5 ให้ยาถ่ายพยาธิ febendazole ขนาด 0.56 มก./กก. (positive control) และกลุ่มที่ 6 ให้ 3% dimethylsulfoxide ขนาด 0.02 มล./กก. (negative control) กลุ่มที่ 1, 2, 5 และ 6 ทำการให้สารสกัดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน ส่วนกลุ่มที่ 3 และ 4 ให้ 3 วัน เมื่อครบ 5 วันหนูทุกตัวถูกผ่าเปิดลำไส้ใหญ่ เพื่อนับจำนวนพยาธิ ผลการทดลองพบว่าสารสกัดน้ำจากเปลือกมะพร้าวไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าพยาธิ และสารสกัด butanol เปลือกมะพร้าวขนาด 500 มก./กก. และ 1000 มก./กก. สามารถฆ่าพยาธิได้ 62.72 และ 98.36% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกลุ่ม negative control ผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัด butanol จากเปลือกมะพร้าวมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวกลมในลำไส้ แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไปถึงขนาดและวิธีการให้ที่เหมาะสม รวมถึงวิธีการสกัดเพื่อให้ได้สาระสำคัญที่ออกฤทธิ์ในปริมาณมากขึ้น
Res Vet Sci. 2010; 88(1): 101-3.