ผลของสารสกัดจากหญ้าฝรั่นกับการควบคุมน้ำหนัก

การศึกษาในอาสาสมัครเพศหญิงที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน (ดรรชนีมวลกาย = 25 - 28 กก./ม2) อายุระหว่าง 25 - 45 ปี โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ให้รับประทานแคปซูลสารสกัดจากหญ้าฝรั่น (ปริมาณสารสกัดเท่ากับ 88.25 มก./แคปซูล) ขนาด 2 แคปซูล/วัน, เช้า - เย็น จำนวน 31 คน และกลุ่มที่ให้ยาหลอก จำนวน 29 คน ทดลองนาน 8 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากหญ้าฝรั่นจะมีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่ากลุ่มยาหลอกหลังจาก 8 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังลดความถี่ในการกินจุบจิบ (snacking frequency) และทำให้รู้สึกอิ่ม ด้านความปลอดภัยของสารสกัด พบว่าไม่มีผลต่อความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ ค่าชีวเคมีในเลือด เช่น ระดับน้ำตาล ไขมัน เอนไซม์ในตับและไต ผลข้างเคียงที่พบคือ ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย แต่มีน้อย (16%) สรุปได้ว่าสารสกัดจากหญ้าฝรั่นมีผลลดน้ำหนักและการกินจุบจิบได้ ซึ่งอาจเป็นตัวช่วยเสริมในการลดน้ำหนักของผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากได้

Nutrition Research 2010;20:305-13.