สารสำคัญที่อยู่ในชาเป็นสารในกลุ่ม polyphenols เช่น gallic acid,catechin และสารอนุพันธ์ เช่น theogallin, gallocatechin, epicatechin, epigallocatechin, epicatechin gallate และepigallocatechin gallate (EGCG), theaflavine, theaflavine acid and thearubigene นอกจากนี้ยังมีสารในกลุ่ม flavonoids เช่น quercetin, kaempferol และ myrecetin มีการศึกษาในสัตว์ทดลองและในเซลล์เป็นจำนวนมากที่ยืนยันว่าชามีฤทธิ์ป้องกันการเกิดมะเร็ง ทั้งมะเร็งลำไส้ ปอด หลอดอาหาร ม้าม ตับ และเต้านม โดยพบว่า EGCG เป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดมะเร็ง การวิจัยในคนพบว่าแนวโน้มของผู้หญิงที่ดื่มชาดำและชาเขียวผง มีการเกิดมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ การกระจายของมะร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ลดลง การศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดน้ำของชาเขียวมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และการศึกษาในคนก็พบว่าการรับประทานผงชาเขียวในรูปแบบของยาน้ำแขวนตะกอนมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง การศึกษาฤทธิ์ลดไขมันในเลือดพบว่าสารสกัดน้ำของใบชาสามารถลดระดับ cholesterol, phospholipid, triglyceride, LDL, VLDL และเพิ่มระดับของ HDL ในเลือดได้ ส่วนการศึกษาในคนพบว่าการบริโภคชาเขียวมีผลให้ลดการสร้าง cholesterol ในตับ และลดการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติในคนไข้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายด้วย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชอีกเป็นจำนวนมาก ที่ยืนยันว่าชามีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ต้านฟันผุ ป้องกันตับ ต้านการเกิดต้อกระจก และต้านภูมิแพ้ แต่ยังเป็นเพียงการวิจัยในสัตว์ทดลองและในหลอดทดลองเท่านั้น
Annals of Biological Research 2010;1(2): 91-102