การศึกษาในหนูแรท 40 ตัว แบ่งเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 8 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมเป็นหนูปกติให้กินอาหารมาตรฐาน กลุ่มที่ 2 เป็นหนูปกติให้กินอาหารมาตรฐานร่วมกับสารสกัดกานพลูที่มีสารยูจีนอล : สารยูจีนิล ซิเตด (12:1) ขนาด 100 มก./กก. น้ำหนักตัว กลุ่มที่ 3 เป็นหนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยstreptozotocin ให้กินอาหารมาตราฐาน กลุ่มที่ 4 เป็นหนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานให้กินอาหารมาตราฐานร่วมกับสารสกัดกานพลูที่มีสารยูจีนอล : สารยูจีนิล ซิเตด (12:1) ขนาด 100 มก./กก. น้ำหนักตัว กลุ่มที่ 5 เป็นหนูเบาหวานที่ได้รับยาต้านเบาหวาน glybenclamide ขนาด 3 มก./กก. น้ำหนักตัว ทำการเก็บตัวอย่างเลือดทุก 3 สัปดาห์ รวมทั้งสิ้นนาน 15 สัปดาห์ พบว่าในหนูปกติ กล่มที่ 1 และ 2 ระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าปกติตลอดการทดลอง ในขณะที่หนูกลุ่มที่ 3 ที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานระดับน้ำตาลในเลือดสูงตลอดการทดลอง ส่วนหนูกลุ่มที่ 4 และ 5 ที่ได้รับสารสกัดกานพลูขนาด 100 มก./กก. และยาต้านเบาหวาน glybenclamide ขนาด 3 มก./กก. ตามลำดับ ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจนอยู่ในระดับปกติในสัปดาห์ที่ 12 และ 15 ซึ่งสารสกัดกานพลูขนาด 100 มก./กก. สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin ได้ 37% ภายใน 15 สัปดาห์ เท่านั้น หลังจากนั้นฤทธิ์ของสารสกัดกานพลูเริ่มลดลงเมื่อเทียบกับยาต้านเบาหวาน glybenclamide นอกจากนี้สารสกัดกานพลูสามารถลดการตายของเซลล์ที่หัวใจ และตับ ในหนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานได้ 52% และ 21% ตามลำดับ ต้านการเกิดต้อกระจก และต้านการเกิด lipid peroxidation ในหนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัดกานพลูขนาด 100 มก./กก. สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด ปกป้องการถูกทำลายของเซลล์ที่หัวใจ ตับ และป้องกันการเกิดต้อกระจกในหนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin ได้
Food Chemistry 2010;122:1116-21.