ฤทธิ์ป้องกันพิษงูของเมล็ดหมามุ่ย

การศึกษาในหนูแรทเพศผู้ 12 ตัว แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 6 ตัว กลุ่มที่ 1 ฉีดสารสกัดเมล็ดหมามุ่ย (Mucuna puriens extract : MPE) ขนาด 21 มก./กก. เข้าทางช่องท้อง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง นาน 3 สัปดาห์ กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุมฉีดน้ำเกลือเข้าทางช่องท้องในขนาดที่เท่ากัน เมื่อครบ 7 วันของการศึกษา หลังจากฉีดสารสกัด MPE เข็มที่ 1 ให้ฉีดพิษงูเห่าพ่นพิษ และงูกะปะให้กับหนู พบว่าไม่มีหนูรอดชีวิต เมื่อฉีดพิษงูในวันที่ 14 ของการศึกษา (หลังจากฉีดสาร MPE เข็มที่ 2) พบว่าอัตราการรอดชีวิตของหนูเท่ากับ 33 และ 17% ในพิษของงูห่าพ่นพิษ และงูกะปะตามลำดับ และเมื่อฉีดพิษงูให้กับหนูวันที่ 21 ของการศึกษา (หลังจากฉีดสารสกัด MPE เข็มที่ 3) พบว่าอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 84 และ 33% ในพิษของงูเห่าพ่นพิษและงูกะปะ แต่การฉีดสารสกัดเมล็ดหมามุ่ยจะใช้ไม่ได้ผลกับพิษของงูทับสมิงคลา งูจงอาง และงูแมวเซา แต่จะช่วยให้มีชีวิตอยู่รอดเพิ่มขึ้น 10 นาที - 10 ชั่วโมงเท่านั้น และจากการศึกษาฤทธิ์การเป็นภูมิคุ้มกันของ anti-MPE ของเมล็ดหมามุ่ยโดยผสมพิษงูความเข้มข้น 0.68 มก. กับ 1 ซีซี. ของ antiserum (ซีรัมที่มี anti-MPE IgG) แล้วฉีดเข้าหลอดเลือดดำที่หางของหนูแรท พบว่าได้ผลดีถึง 90% กับพิษของงูเห่าพ่นพิษ และได้ผลปานกลางกับพิษของงูเห่า งูเห่าสีน้ำตาล และได้ผลเล็กน้อยกับงูเห่าชนิด Naja nigricolis  และงูกะปะ และหากเป็นงูทับสมิงคลาจะยืดชีวิตการอยู่รอดได้ 1 - 4 ชั่วโมง และไม่ได้ผลกับงูแมวเซาและงู Crotalus atrox  ซึ่งจากการศึกษาในครั้งนี้พบว่าฤทธิ์การเป็นภูมิคุ้มกันของ anti-MPE จากเมล็ดหมามุ่ยสามารถใช้เป็นภูมิคุ้มกันในการรักษาการถูกงูเห่ากัดได้

J of Ethnopharmacology 2009;123:356-8