ฤทธิ์ของน้ำมันงาร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูง

ผู้ป่วยชายและหญิงที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงระดับน้อยถึงปานกลาง คือมีค่าความดันโลหิตตัวบน ≥ 140 มม.ปรอท และค่าความดันโลหิตตัวล่าง ≥ 90 มม.ปรอท อายุ 35 – 60 ปี จำนวน 50 คน ได้รับยาเพื่อการรักษาเป็นยาขับปัสสาวะ hydrochlorothiazide หรือ β-blocker atenolol มานาน 1 ปีก่อนเข้าร่วมการศึกษา และยังคงได้รับยานี้ตามปกติตลอดการศึกษานี้ ผู้ป่วยจะได้รับน้ำมันงาเพื่อใช้ในการประกอบอาหารในครอบครัว 4 – 5 กก. ต่อสมาชิกในครอบครัว 4 คน ต่อเดือน (ประมาณ 35 ก./วัน/คน) และต้องใช้เฉพาะน้ำมันงาเพียงชนิดเดียวตลอด 45 วัน จากนั้นหยุดกินน้ำมันงา ให้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันที่เคยใช้อยู่เดิมอีก 45 วัน ทำการตรวจร่างกาย ความดันโลหิต น้ำหนักตัว, Body mass index (BMI), ระดับไขมัน อิเลคโตรไลท์ และเอนไซม์ในเลือด ก่อนการศึกษา หลังจากกินน้ำมันงา 45 วัน และหลังจากหยุดกินน้ำมันงา 45 วัน พบว่า การใช้น้ำมันงาแทนที่น้ำมันชนิดอื่นในการประกอบอาหารในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ทำให้ค่าความดันโลหิตตัวบนและตัวล่างกลับลงสู่ระดับปกติ น้ำหนักร่างกาย และ BMI ลดลง แต่หลังจากหยุดใช้น้ำมันงานค่าดังกล่าวกลับสูงขึ้น ระดับคอเลสเตอรอล, high density lipoprotein cholesterol และ low density lipoprotein cholesterol ในเลือดไม่แตกต่างกันเมื่อวัดผลทั้ง 3 ช่วงเวลาที่ศึกษา ยกเว้นระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดต่ำลงเมื่อใช้น้ำมันงา และกลับสูงขึ้นเมื่อหยุดใช้น้ำมันงา ระดับโซเดียมในเลือดลดลงเมื่อใช้น้ำมันงาและกลับสูงขึ้นเมื่อหยุดใช้น้ำมันงา ระดับโปแตสเซียมในเลือดสูงขึ้นเมื่อใช้น้ำมันงาและลดลงสู่ค่าปกติเมื่อหยุดใช้น้ำมันงา การเกิด lipid peroxidation ลดลงเมื่อใช้น้ำมันงาและค่ายังคงที่หลังจากที่หยุดใช้น้ำมันงาแล้ว ระดับเอนไซม์ catalase และ superoxide dismutase ในเลือดสูงขึ้น และ glutathione peroxidase ในเลือดลดลง เมื่อใช้น้ำมันงาและค่ายังคงที่หลังจากหยุดใช้น้ำมันงาแล้ว ระดับวิตามินซี วิตามินอี เบต้า-คาโรทีน และ reduced glutathione สูงขึ้นเมื่อใช้น้ำมันงาและลดลงหลังจากหยุดใช้น้ำมันงา จากการศึกษาแสดงว่าน้ำมันงาสามารถช่วยลดความดันโลหิต ลดการเกิด lipid peroxidation และเพิ่มฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงร่วมกับยาขับปัสสาวะได้

Yale Journal of Biology and Medicine 2006;79:19-26