การศึกษาฤทธิ์รักษาแผลของสารสกัดจากใบส้มกุ้ง ในหนูขาวโดยแบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับยามาตรฐาน Framycetin ointment กลุ่มที่ 3 และ 4 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอลจากใบส้มกุ้ง และได้รับสารสกัด embelin จากใบส้มกุ้ง ตามลำดับ ซึ่งได้ทำการศึกษาในแผล 3 ชนิด คือ แผลที่ถูกตัด (excision wound) แผลที่เป็นรอยเชือด (incision wound) และแผลที่มีเนื้อตาย (dead space wound) โดยแผลที่ถูกตัด (excision wound) หนูจะถูกทำเกิดแผลขนาด 500 ตารางมิลลิเมตร และให้หนูแต่ละกลุ่มทายา ointment ดังนี้ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมไม่ได้รับอะไร กลุ่มที่ 2 ทายา Framycetin ointment กลุ่มที่ 3 ทา 0.2% (w/w) gel ของสารสกัดเอทานอลจากใบส้มกุ้ง (สารสกัดหยาบ 200 มก. ผสมกับ 100 ก. sodium alginate) กลุ่มที่ 4 ได้รับ 0.2% (w/w) gel ของสารสกัด embelin จากใบส้มกุ้ง (embelin 100 มก. ผสมกับ 50 ก. Sodium alginate) ทาที่แผลทุกวันๆ ละ 1 ครั้ง จนกว่าแผลจะปิด ซึ่งใช้เวลาทดลองทั้งหมด 16 วัน จากผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาทาจากสารสกัดเอทานอลของใบส้มกุ้ง และสาร embelin สามารถรักษาแผลโดยทำให้แผลปิดได้ 97.00 ± 2.61 และ 98.50 ± 1.64% ในวันที่ 16 ซึ่งใกล้เคียงกับยามาตรฐาน Framycetin ที่ทำให้แผลปิด 99.17 ± 0.75% ในขณะที่การศึกษาในแผลที่เป็นรอยถูกเชือด (incision wound) ก็ได้รับยาทาเช่นเดียวกับกลุ่ม excision wound โดยทาทุกวันจนกว่าแผลจะหาย พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาทาจากสารสกัดเอทานอล และสาร embelin จากใบส้มกุ้ง จะมีผลทำให้ความยืดหยุ่นของบาดแผล (tensile strength) และ breaking strength สูงขึ้น ซึ่งใกล้เคียงกับยามาตราฐาน Framycetin และในแผลที่มีเนื้อตาย (dead space wound) ทำการทดลองโดยให้หนูกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมได้รับ 1 มล./กก. ของ 1% gum tragacanth ป้อนทางสายยาง กลุ่มที่ 2 และ 3 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารแขวนลอยของสารสกัดใบส้มกุ้ง 30 มก./มล. ผสมกับ 1% (w/v) gum tragacanth และสารแขวนลอยของสาร embelin 4 มก./มล. ผสมกับ 1% (w/v) gum tragacanth ป้อนทางสายยาง ขนาด 30 มก./มล. และ 4 มก./มล. ตามลำดับ พบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากใบส้มกุ้ง และสาร embelin จะมีการเพิ่มขึ้นของเนื้อเยื่อ (granulation tissue) และความยืดหยุ่นของบาดแผล (tensile strength) สูงขึ้น ได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม ซึ่งจากผลการศึกษาสรุปได้ว่าสารสกัดจากใบส้มกุ้ง และสาร embelin จากใบส้มกุ้งสามารถรักษาแผลได้ดี
J Ethnopharmacol 2007;109:529-34