การทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดผลมะกรูดฝรั่ง (bergamot; Citrus bergamia) ในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดผลมะกรูดฝรั่งที่ความเข้มข้น 1-2,000 มคก./มล. (4 และ 24 ชม.) ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ ไม่มีผลต่อการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงการมีชีวิตรอดของเซลล์มะเร็งตับชนิด HepG2 แต่มีผลกระตุ้นวิถีส่งสัญญาณ AMP-activated protein kinase (AMPK) ผ่านปฏิกิริยา phosphorylation ของโปรตีน threonine 172 ลดระดับของ cholesterol และ triglyceride ภายในเซลล์ และลดการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ไขมัน (SREBF1c, SREBF2, ACACA, SCD1, HMGCR และ FASN) และการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 50 คน ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงระดับปานกลาง แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดมะกรูดฝรั่ง 400 มก. หรือกลุ่มยาหลอก เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดมะกรูดฝรั่งมีผลต่อการปรับปรุงค่าไขมันและเอนไซม์การทำงานของตับเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก โดยลดระดับ cholesterol ทั้งหมด ระดับ triglyceride, low-density lipoprotein-cholesterol (LDL-C), non-high-density lipoprotein cholesterol (non-HDL-C), apolipoprotein B100 (ApoB), fasting plasma glucose (FPG), glutamic-oxaloacetic transaminase (GOT), glutamate pyruvate transaminase (GPT) และ gamma-glutamyl-transferase (gGT)
Phytother Res. 2023;37(9):4185-4195. doi: 10.1002/ptr.7897.