ศึกษาฤทธิ์ฆ่าเชื้ออสุจิ (spermicidal) ของสารสกัดน้ำและสารสกัดเมทานอลจากเปลือกต้นเพกาในหลอดทดลองด้วยวิธี sperm motility assay และ hypo-osmotic swelling test พบว่าสารสกัดทั้งสองชนิดที่ความเข้มข้น 10-100 มคก./มล. มีผลยับยั้งการเคลื่อนที่และอัตราการรอดชีวิตของอสุจิ ซึ่งสารสกัดที่ความเข้มข้น 100 มคก./มล. มีผลทำให้ตัวอสุจิมีรูปร่างผิดปกติ โดยส่วนหัวเกิดการขยายบวมและปลายหางม้วนพับเป็นขด ค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่ทำให้เกิดความผิดปกติดังกล่าวได้ครึ่งหนึ่ง (EC50) เท่ากับ 59.25 และ 58.12 มคก. สำหรับสารสกัดน้ำและสารสกัดเมทานอล ตามลำดับ และเมื่อทำการทดสอบฤทธิ์ดังกล่าวในหนูแรทเพศผู้ (แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 12 ตัว) ด้วยการป้อนน้ำเกลือ (กลุ่มควบคุม) สารสกัดน้ำและสารสกัด เมทานอลจากเปลือกต้นเพกาให้แก่หนูขนาด 200 มก./กก./วัน นานติดต่อกัน 14 วัน (สุ่มแยกหนูจากแต่ละกลุ่มออกมา 6 ตัว เพื่อทดสอบการฟื้นฟูร่างกายจากผลกระทบของสารสกัด โดยเลี้ยงหนูต่อไปอีก 14 วัน ด้วยอาหารและน้ำปกติและไม่ให้สารสกัดใด ๆ ก่อนนำไปตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธีการเดียวกับกลุ่มที่ได้รับสารสกัด) ประเมินผลด้านพฤติกรรมด้วยการจับเข้าคู่กับหนูแรทตัวเมีย (อัตราหนูเพศผู้ต่อหนูเพศเมียเท่ากับ 1:2) เป็นเวลา 1 คืน ประเมินการผสมพันธุ์สำเร็จด้วย vaginal smear และแยกหนูแรทเพศเมียที่ได้รับการปฏิสนธิ เลี้ยงจนคลอดและนับจำนวนลูกที่ได้เพื่อหาค่าเฉลี่ย ทำการเก็บตัวอย่างเลือดและชำแหละซากเพื่อตรวจวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงค่าทางชีวเคมีและอวัยวะที่เกี่ยวข้องในระบบสืบพันธุ์ ผลการศึกษาพบว่า การป้อนสารสกัดทั้งสองชนิดไม่ส่งผลต่อพฤติกรรม แต่มีผลลดจำนวนเชื้ออสุจิ ลดการเคลื่อนที่และอัตราการรอดชีวิตของเชื้ออสุจิอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ผลการตรวจวิเคราะห์ค่าทางชีวเคมีในเลือดพบว่า การป้อนสารสกัดทั้งสองชนิดมีผลลดระดับฮอร์โมน testosterone และเพิ่มระดับ prostaglandin E2 และ F2α (PGE2 และ PGF2α) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยผลจากสารสกัดเมทานอลจะเด่นชัดกว่าสารสกัดน้ำ นอกจากนี้ผลการนับจำนวนลูกหนูที่คลอด (number of pups delivered) จากหนูแรทเพศเมียที่ได้รับการปฏิสนธิ พบว่าหนูแรทเพศผู้ที่ได้รับการป้อนสารสกัดเมทานอลและน้ำให้ค่าเฉลี่ยจำนวนลูกหนูเท่ากับ 0.0±0.0 และ 0.83±0.037 ตามลำดับ ในขณะที่หนูแรทเพศผู้ที่เลี้ยงต่อไปอีก 14 วัน โดยไม่ได้รับสารสกัดอีก ให้ค่าเฉลี่ยของลูกหนูที่คลอดเท่ากับ 2.33±0.494 และ 2.00±0.4 (สำหรับหนูที่เคยได้รับสารสกัดน้ำและเมทานอล ตามลำดับ) ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากเปลือกต้นเพกามีฤทธิ์คุมกำเนิดในเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสารสกัดเมทานอล ซึ่งฤทธิ์ดังกล่าวสามารถบรรเทาและฟื้นฟูคืนกลับได้และไม่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมทางเพศ
Indian J Exp Biol. 2023;61(1):33-41.