ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียของสารสกัด 80% เมทานอลจากรากงา (Sesamum indicum) และส่วนสกัด 3 ชนิดที่แยกได้จากสารสกัดดังกล่าว (คลอโรฟอร์ม เอ็น-บิวทานอล และน้ำ) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้ติดเชื้อมาลาเรีย Plasmodium berghei ANKA ด้วยการฉีดเชื้อดังกล่าว (1x107) เข้าทางช่องท้อง หลังจากนั้น 72 ชม. แบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่ม (กลุ่มละ 6 ตัว) กลุมแรกป้อนด้วย 2% TW80 (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2, 3 และ 4 ป้อนด้วยสารสกัดเมทานอลจากรากงา หรือสารสกัดทั้ง 3 ชนิด ขนาด 200, 400 และ 600 มก./กก. และกลุ่มที่ 5 ป้อนยา chloroquine ขนาด 25 มก./กก. ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 3 วัน วิเคราะห์ฤทธิ์ของสารสกัดและส่วนสกัดจากรากงาในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ P. berghei ANKA ด้วยวิธี 4-day suppressive test และคำนวณหา % ยับยั้งเชื้อปรสิต (% parasitemia suppression) ค่าเฉลี่ยของระยะเวลาการอยู่รอด (mean survival time) น้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลง (body weight change) และปริมาณเม็ดเลือดอัดแน่น (packed cell volume) ผลจากการศึกษาพบว่า สารสกัดเมทานอลและส่วนสกัดทั้ง 3 ชนิด จากรากงา มีผลยับยั้งเชื้อปรสิตและเพิ่มค่าของระยะเวลาการอยู่รอดของหนูได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยประสิทธิผลขึ้นกับขนาดความเข้มข้น (dose-dependent) โดยส่วนสกัดเอ็น-บิวทานอลขนาด 600 มก./กก. มีผลยับยั้งเชื้อปรสิตและเพิ่มค่าของระยะเวลาการอยู่รอดของหนูได้สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนสกัดชนิดอื่น ในขณะที่ส่วนสกัดน้ำขนาด 200 มก./กก. มีผลยับยั้งเชื้อปรสิตได้ต่ำสุด ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สารสกัดเมทานอลจากรากงา (Sesamum indicum) และส่วนสกัด 3 ชนิดที่แยกได้จากสารสกัดดังกล่าว (คลอโรฟอร์ม เอ็น-บิวทานอล และน้ำ) มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียได้
J Exp Pharmacol. 2023;15:163-175.