ศึกษาผลของการเกิดอันตรกิริยาระหว่างการใช้ยา flurbiprofen ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม NSAIDs ใช้ลดไข้ แก้ปวดและต้านการอักเสบ ร่วมกับน้ำมันยูคาลิปตัส (Eucalyptus globulus essential oil) โดยทำการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง (in vitro) ด้วยวิธี membrane stabilization assay บนเซลล์เม็ดเลือดแดงของมนุษย์ และทำการศึกษาในสัตว์ทดลองด้วยการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบแบบเฉียบพลันในหนูแรทด้วยวิธีฉีด carrageenan และ histamine เข้าที่อุ้งเท้าหนู ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบแบบเรื้อรังด้วยวิธีฝังก้อนสำลีบริเวณรักแร้ของหนูแรท (cotton pellet-induce granuloma model) และการฉีดสาร Freund's complete adjuvant เข้าบริเวณอุ้งเท้า ทดสอบฤทธิ์แก้ปวดด้วยวิธีการฉีดกรดอะซิติกเข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ (acetic acid induced-pain model) และทดสอบฤทธิ์ลดไข้ด้วยวิธีการฉีดเชื้อยีสต์เข้าใต้ผิวหนังบริเวณคอของหนูแรท (Brewer's yeast-induced pyrexia model) โดยการทดสอบในสัตว์ทดลองจะทำการแบ่งหนูออกเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ป้อนน้ำมันยูคาลิปตัส ขนาด 125, 250 และ 500 มก./กก. ตามลำดับ กลุ่มที่ 4 ป้อนยา flurbiprofen ขนาด 10 มก./กก. กลุ่มที่ 5-7 ป้อนน้ำมันยูคาลิปตัสร่วมกับยา flurbiprofen ขนาด 125+10, 250+10 และ 500+10 มก./กก. ตามลำดับ และกลุ่มที่ 8 ป้อนด้วยน้ำเปล่า (กลุ่มควบคุม) หลังจากนั้นจึงนำนหูไปทำการทดสอบด้วยวิธีต่าง ๆ ข้างต้น ผลจากการทดสอบในหลอดทดลองพบว่า การใช้น้ำมันยูคาลิปตัสร่วมกับยา flurbiprofen ขนาด 500+10 มก./มล. มีผลช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลายได้ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการบ่มเซลล์ด้วยน้ำมันยูคาลิปตัสหรือยา flurbiprofen เพียงอย่างเดียว ส่วนการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า การป้อนหนูด้วยน้ำมันยูคาลิปตัสร่วมกับยา flurbiprofen ขนาด 500+10 มก./กก. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ แก้การปวด และลดไข้ได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการป้อนน้ำมันยูคาลิปตัสขนาด 500 มก./กก. เพียงอย่างเดียวในทุกรูปแบบของการทดสอบ เมื่อเปรียบเทียบกับการป้อนยา flurbiprofen ขนาด 10 มก./กก. เพียงอย่างเดียว พบว่าการป้อนหนูด้วยน้ำมันยูคาลิปตัสร่วมกับยา flurbiprofen ขนาด 500+10 มก./กก. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดไข้ได้ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่มีความแตกต่างกันในการทดสอบฤทธิ์แก้ปวด การป้อนยา flurbiprofen ขนาด 10 มก./กก. เพียงอย่างเดียว มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและแก้ปวดได้ดีกว่าป้อนน้ำมันยูคาลิปตัสขนาด 500 มก./กก. เพียงอย่างเดียว และไม่มีความแตกต่างกันในการทดสอบฤทธิ์ลดไข้ นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์การแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการอักเสบพบว่า การป้อนหนูด้วยน้ำมันยูคาลิปตัสร่วมกับยา flurbiprofen ขนาด 500+10 มก./กก. มีผลลดการแสดงออกของ interleukin-4 (IL-4) และ tumor necrosis factor-α (TNF- α) ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และการวิเคราะห์หาสารที่พบในน้ำมันยูคาลิปตัสด้วยวิธี gas chromatography-mass spectrometry (GC-MS) พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ eucalyptol ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การใช้น้ำมันยูคาลิปตัสร่วมกับยา flurbiprofen มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ แก้ปวด และลดไข้ได้ดีกว่าการใช้ยาหรือน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงรูปแบบและขนาดที่เหมาะสมสำหรับปรับใช้ในมนุษย์ต่อไปในอนาคต
Inflammopharmacology. 2023;31(4):1849-62.