สาร crocin จากหญ้าฝรั่นช่วยฟื้นฟูสุขภาวะทางจิตเนื่องจากการนอนหลับไม่เพียงพอได้

การศึกษาผลของการได้รับสาร crocin ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบในหญ้าฝรั่น (Crocus sativus L.) ต่อพฤติกรรมและสุขภาวะจิตของหนูแรทเพศเมียที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการนอนหลับในช่วงนอนหลับฝัน [Rapid-eye movement (REM)] ไม่เพียงพอ [sleep deprivation (SD)] ซึ่งการนอนหลับในช่วงดังกล่าว จะช่วยในเรื่องความทรงจำ การเรียนรู้ และการสร้างจินตนาการ โดยในการทดสอบจะทำการฉีดสาร crocin ซึ่งละลายในน้ำเกลือ ขนาด 25, 50 และ 75 มก./กก/วัน เข้าทางช่องท้องของหนูแรท เป็นระยะเวลา 14 วัน (ทำการฉีดหลังจากทำการกระตุ้นหนูแรทให้เกิดภาวะ REM-SD ในแต่ละวัน) เมื่อสิ้นสุดการทดลอง นำหนูไปทดสอบสมรรถนะด้านพฤติกรรมการเคลื่อนไหว (locomotor activity) อาการวิตกกังวล (anxiety-like behavior) การย้ำคิดย้ำทำ (obsessive compulsive-like behavior) การตอบสนองต่อความเจ็บปวด (pain perception) และภาวะซึมศร้า (depressive-like behavior) ด้วยวิธี open field test, Marble burying test, hot plate test และ forced swim test โดยเว้นช่วงในการทำการทดสอบแต่ละวิธีห่างกัน 15 นาที ผลจากการศึกษาพบว่า การกระตุ้น REM-SD ทำให้หนูเกิดอาการอยู่ไม่นิ่ง (hyperlocomotor) มีพฤติกรรมการย้ำคิดย้ำทำเพิ่มมากขึ้นและมีการตอบสนองต่อความเจ็บปวดได้น้อยลงลง ซึ่งแสดงถึงพฤติกรรมคล้ายอาการของกลุ่มอารมณ์สุดโต่ง (manic-like behavior) ในโรคทางจิตเวชที่มีความแปรปรวนทางอารมณหรือไบโพลาร์ ซึ่งการได้รับสารสกัด crocin ทุกขนาดมีผลช่วยลดพฤติกรรมดังกล่าวได้ แสดงให้เห็นว่า สาร corcin จากหญ้าฝรั่นอาจพัฒนาเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาวะทางจิตเนื่องจากการนอนหลับไม่เพียงพอได้

Behav Pharmacol. 2024;35(4):239-52.