ฤทธิ์ของเปราะหอมต่อการต้านภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในหลอดทดลอง

การทดสอบแยกสารจากเหง้าของเปราะหอม (Kaempferia galanga L.) และวิเคราะห์โครงสร้างของสารเคมีโดยวิธี spectroscopic ด้วยเทคนิค 1D และ 2D NMR (nuclear magnetic resonance spectroscopy), HRESIMS (high resolution electrospray ionisation mass spectroscopy), IR (infrared spectroscopy), UV (Ultraviolet - Visible spectroscopy), [α]D, electronic circular dichroism (ECD) และเทคนิคทางเคมี พบว่าประกอบด้วยสาร diarylheptanoids 12 ชนิด เป็นสารใหม่ 5 ชนิด ได้แก่ kaemgalangins A-E และสารที่ทราบชนิดแล้ว ได้แก่ phaeoheptanoxide, renealtin A, renealtin B, tsaokopyranol C, tsaokopyranol G, hedycoropyran A และ hedycoropyran B และทำการทดสอบฤทธิ์ต่อการต้านภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในหลอดทดลอง โดยทดสอบกลไกการยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส (α-glucosidase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีหน้าที่ย่อยแป้งและคาร์โบไฮเดรตให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว การยับยั้งเอนไซม์ไกลโคเจนฟอสฟอรีเลส เอ (glycogen phosphorylase a; GPa) ที่มีหน้าที่สลายไกลโคเจน และการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งโปรตีนไทโรซีนฟอสฟาเทส 1บี (protein tyrosine phosphatase 1B; PTP1B) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ยับยั้งการทำงานของอินซูลิน และการทดสอบกลไกการกระตุ้นการหลั่ง glucagon-like peptide-1 (GLP-1) กลุ่มฮอร์โมนในทางเดินอาหารที่มีผลต่อการลดน้ำตาลในเลือด พบว่าสาร kaemgalangins A และ E มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase มีค่า IC50 เท่ากับ 45.3 และ 116.0 ไมโครโมล ตามลำดับ สาร renealtin B มีฤทธิ์ยับยั้ง GPa มีค่า IC50 เท่ากับ 68.1 ไมโครโมล และทุกสารมีฤทธิ์ต่อการยับยั้ง PTP1B การศึกษาการจำลองการจับกันของโมเลกุล (molecular docking) พบว่าสาร kaemgalangin A มีการวางตัวของโมเลกุลในบริเวณเร่งปฏิกิริยา (catalytic pocket) ของ α-glucosidase และ OH-4′′ เป็นบทบาทสำคัญของปฏิกิริยา นอกจากนี้ทุกสารยังมีฤทธิ์เพิ่มการหลั่ง GLP-1 ในเซลล์ต่อมไร้ท่อทางเดินอาหารชนิด NCI-H716 ในอัตรา 826.9%-1738.3% จากผลการทดสอบครั้งนี้นักวิจัยสรุปว่าสาร diarylheptanoids ที่แยกได้จากเหง้าของเปราะหอมมีฤทธิ์ต่อการยับยั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในหลอดทดลอง โดยกลไกการยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase และ GPa และกระตุ้นการหลั่ง GLP-1

Fitoterapia. 2023;167:105502. doi: 10.1016/j.fitote.2023.105502.