ฤทธิ์ของใบหูกวางและใบหอมแขกต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก

การทดสอบฤทธิ์ของสารสกัด 95% เมทานอลจากใบหูกวาง (Terminalia catappa) และสารสกัด 95% เมทานอลจากใบหอมแขกหรือใบหมุย (Murraya koenigii) ต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก Streptococcus mutans และการยับยั้งระบบควอรัมเซนซิง (anti-quorum sensing) ซึ่งเป็นการสื่อสารของแบคทีเรียเพื่อตอบสนองต่อความเครียดในสิ่งแวดล้อมโดยควบคุมการแสดงออกของยีนที่มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างไบโอฟิล์ม (biofilm formation) โดยทำการเก็บตัวอย่างคราบพลัค (dental plaque) จากผู้ที่เข้ารับการรักษาทันตกรรมจัดฟัน ทำการแยกโคโลนีของเชื้อ S. mutans แล้วทำการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเมทานอลของใบหูกวางและใบหอมแขก โดยการหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย (minimum inhibitory concentration; MIC) ด้วยวิธี broth microdilution และวัดค่าการยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์ม ด้วยวิธีการย้อมสี crystal violet staining ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเมทานอลของใบหอมแขกและใบหูกวางมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียด้วยค่า MIC เท่ากับ 0.62 และ 1.25 มก./มล. ตามลำดับ และสารสกัดเมทานอลใบหอมแขกที่ความเข้มข้นต่ำสุด 0.03 และ 0.01 มก. มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มของเชื้อ S. mutans ได้ 57.6% และ 43.6% ตามลำดับ ส่วนสารสกัดเมทานอลใบหูกวางไม่มีฤทธิ์ต่อการยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มของเชื้อ S. mutans

Cureus. 2023;15(11):e48765. doi: 10.7759/cureus.48765.