การศึกษากลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งผิวหนังของสาร crocin ซึ่งเป็นสารสำคัญในกลุ่ม carotenoid ที่พบได้ในเกสรหญ้าฝรั่น (Crocus sativus L.) และดอกพุดซ้อน (Gardenia jasminoides) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังด้วยสาร DMBA (7,12-dimethylbenzanthracene) และน้ำมันน้ำมันเมล็ดสลอด (croton oil) โดยหนูจะถูกแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม จะถูกโกนขนบริเวณหลังและทาด้วยอะซีโตนสัปดาห์ละ 3 ครั้ง กลุ่มที่ 2 ทำเหมือนกลุ่มควบคุม และได้รับการฉีดสาร crocin ขนาด 20 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นาน 16 สัปดาห์ กลุ่มที่ 3 จะถูกโกนขนบริเวณหลังและทาด้วย DMBA ความเข้มข้น 100 มก./100 มล. 1 ครั้ง หลังจากนั้น 2 สัปดาห์จึงทาด้วยน้ำมันเมล็ดสลอดความเข้มข้น 1% ในอะซีโตน สัปดาห์ละ 3 ครั้ง นาน 16 สัปดาห์ กลุ่มที่ 4 ทำเหมือนกลุ่มที่ 3 และได้รับการฉีดสาร crocin ขนาด 20 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นาน 16 สัปดาห์ หลังจากนั้นหนูจะถูกฆ่าและทำการเก็บผิวหนังไปวิเคราะห์ผลด้วยวิธี Enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) และ Quantitative real-time polymerase chain reaction (RT-PCR) พบว่า สาร crocin สามารถลดจำนวนครั้งในการเกาบริเวณผิวหนังและลดจำนวนเนื้องอกที่เกิดขึ้น รวมทั้งช่วยยับยั้งการเพิ่มขนาดและจำนวนของเซลล์ผิวหนังแบบผิดปกติ (epidermal hyperplasia) นอกจากนี้ยังลดการแสดงออกของยีนและลดระดับโปรตีน Wnt, β-catenin, SMAD, nuclear factor kappa B (NF-κB), transforming growth factor-beta (TGF-β) และ tumor necrosis factor-alpha (TNF-α) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบและการเกิดพังผืด (fibrosis) บริเวณผิวหนัง ในขณะที่กลุ่มที่ 1 และ 2 มีผลเป็นปกติ และไม่แตกต่างกัน จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า กลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งผิวหนังของสาร crocin เกิดจากการยับยั้งการแสดงออกของ Wnt และยับยั้งกระบวนการอักเสบ (proinflammatory pathway) ผ่านการยับยั้ง NF-κB และ TNF-α รวมทั้งยับยั้งการเกิดพังผืด (fibrosis pathway) ผ่านการยับยั้ง TGF-β
Cureus. 2023;15(5):e38596. doi: 10.7759/cureus.38596.