ฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปากของหญ้าหวาน

การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปากของสาร stevioside ซึ่งเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ไม่ให้พลังงานจากหญ้าหวาน (Stevia rebaudiana) ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคปริทันต์อักเสบ (periodontitis) โดยแบ่งหนูเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นหนูปกติ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2-4 จะถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคปริทันต์อักเสบและถูกทำให้ติดเชื้อ Porphyromonas gingivalis ในช่องปาก และได้น้ำดื่มในรูปแบบของสารละลาย 0.1% stevioside, สารละลาย 10% glucose, และน้ำเปล่า ตามลำดับ ทำการวิเคราะห์การละลายของกระดูกเบ้าฟัน (alveolar bone resorption) ต้วย Micro-CT scanning วิเคราะห์การเกิดการอักเสบ (inflammatory factors expression) และการรุกราน (invasion) ของเชื้อ P. gingivalis เข้าไปในเหงือกด้วย RT-PCR และวิเคราะห์องค์ประกอบของแบคทีเรียในช่องปากด้วย 16 S rRNA sequence พบว่า กลุ่มที่ได้รับสารละลาย 0.1% stevioside มีการละลายของกระดูกเบ้าฟันลดลง มีจำนวนของเซลล์สลายกระดูก (osteoclasts) ลดลง มีสารก่อการอักเสบชนิด IL-6, TNF-α, IL-1β และจำนวนเชื้อ P. gingivalis ในเหงือกลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับสารละลาย 10% glucose และกลุ่มที่ได้รับสารละลาย 0.1% stevioside จะมีระยะเปลี่ยนแปลงของกระดูกโดยวัดจากรอยต่อเคลือบฟันและเคลือบรากฟันกับยอดของกระดูกเบ้าฟัน (cemento-enamel junction to the alveolar bone crest; CEJ-ABC) น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับสารละลาย 10% glucose และน้ำเปล่า นอกจากนี้ กลุ่มที่ได้รับสารละลาย 0.1% stevioside ยังมีองค์ประกอบของแบคทีเรียในช่องปากเหมือนกับกลุ่มควบคุม การทดสอบเพิ่มเติมโดยทำการเพาะเลี้ยงเชื้อ P. gingivalis ร่วมกับสาร stevioside ที่ความเข้มข้นต่าง ๆ (5%, 1% และ 0.1% stevioside) ในหลอดทดลองแล้ววิเคราะห์ผลด้วย RT-PCR รวมทั้งวิเคราะห์การเกิด biofilm ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน พบว่า สาร stevioside มีฤทธิ์ต้านเชื้อ P. gingivalis และลดการเกิด biofilm โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สาร stevioside จากหญ้าหวานมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก

BMC Oral Health. 2023;23(1):550. doi: 10.1186/s12903-023-03229-y.