สารสกัดน้ำ และสารสกัด 70% เอทานอลจากเปลือกมะกรูด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH), 2,2-azinobis (3-ethylbenzothiazoline-6-sulphonic acid) (ABTS), ferric reducing antioxidant power (FRAP) และ metal chelating โดยสารสกัดน้ำจะมีฤทธิ์ดีกว่า และมีปริมาณของสารฟีนอลิกรวม, ฟลาโวนอยด์, แคโรทีนอยด์ และแอนโทไซยานิน สูงกว่าสารสกัด 70% เอทานอล จากการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ keratinocytes (HaCaT) ของสารสกัดทั้ง 2 ที่ความเข้มข้น 1-1000 มคก./มล. พบว่าสารสกัด 70% เอทานอล ที่ความเข้มข้นสูงมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์และที่ความเข้มข้นต่ำจะเป็นพิษต่อเซลล์เมื่อให้สารสกัดเป็นเวลานาน 48 และ 72 ชม. ขณะที่สารสกัดน้ำทุกความเข้มข้นไม่เป็นพิษต่อเซลล์ มีค่า IC50 มากกว่า 1000 มคก./มล. จึงนำสารสกัดน้ำมาทดสอบผลในการรักษาแผล พบว่าสารสกัดน้ำมีฤทธิ์รักษาแผล โดยที่ความเข้มข้น 25, 50 และ 100 มคก./มล. มีผลกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ HaCaT เมื่อทดสอบด้วยวิธี dsDNA และ sulforhodamine B และที่ความเข้มข้น 10, 25, 50 และ 100 มคก./มล. มีผลกระตุ้นการเคลื่อนที่ (migration) ของเซลล์ไปยังบริเวณแผล เมื่อทดสอบด้วยวิธี scratch assay นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มการสร้างไฟโลโปเดีย (filopodia: เป็นรยางค์ที่ยื่นออกไปรอบๆ เซลล์) และกระตุ้น FAK/Src/MAPK/Akt signaling pathway ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแบ่งตัวและการเคลื่อนที่ของเซลล์ keratinocytes สรุปได้ว่าสารสกัดน้ำจากเปลือกมะกรูดมีฤทธิ์ในการรักษาแผลและต้านอนุมูลอิสระได้
J Herb Med. 2023;41:100699.