ฤทธิ์ต้านภาวะกรดยูริกในเลือดสูงของสารสำคัญจากเปลือกมังคุด

การทดสอบฤทธิ์ต้านภาวะกรดยูริกในเลือดสูงของสาร α-mangostin ซึ่งแยกได้จากสารสกัดเอทานอลของเปลือกมังคุดในหลอดทดลองด้วยวิธี enzymatic activity assay พบว่าสาร α-mangostin ที่ความเข้มข้น 50 มก./ล. สามารถยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase ได้ 4.9% ในขณะที่ยามาตรฐาน allopurinol ที่ความเข้มข้น 0.54 มก./ล. สามารถยับยั้งได้ 66.7% และสาร α-mangostin ที่ความเข้มข้น 112.5 มก./ล. สามารถยับยั้งเอนไซม์ uricase ได้ 6.3% ในขณะที่สารมาตรฐาน potassium oxonate ที่ความเข้มข้นเดียวกันสามารถยับยั้งได้ 96.5% การทดสอบด้วย urate transporter 1 (URAT1) inhibitory assay พบว่าสาร α-mangostin มีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 58.95 ไมโครโมล/ล. ในขณะที่ยามาตรฐาน benzbromarone มีค่า IC50 เท่ากับ 0.30 ไมโครโมล/ล. การทดสอบในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูงด้วยการฉีดสาร potassium oxonate ขนาด 500 มก./กก. โดยกรอกสาร α-mangostin ขนาด 5 มก./กก. เข้าทางกระเพาะอาหารวันละ 2 ครั้ง จำนวน 5 ครั้ง พบว่า ระดับกรดยูริกในเลือดของหนูลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับสารทดสอบ และการทดสอบเพิ่มเติมโดยให้สาร α-mangostin ขนาด 4 มก./กก. พบว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่ายามาตรฐาน febuxostat ขนาด 1 มก./กก. เมื่อเปรียบเทียบผลหลังจากหนูได้รับสารทดสอบนาน 2 ชม. แต่สาร α-mangostin ไม่มีผลในการลดระดับกรดยูริกในเลือดของหนูปกติ แม้จะให้ในขนาดสูงถึง 250 มก./กก. ก็ตาม ในขณะที่ยา febuxostat ขนาด 1 มก./กก. ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดของหนูปกติลดลง นอกจากนี้ยังพบว่า สาร α-mangostin ไม่มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ xanthine oxidase และ uricase แต่ทำให้ไตขับกรดยูริกออกจากร่างกายเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้ระดับโปรตีนของ GLUT9 ในไตลดลง แต่ไม่มีผลต่อ URAT1 (GLUT9 และ URAT1 ทำหน้าที่ควบคุมระดับกรดยูริกในเลือด) การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันในหนูเม้าส์ โดยกรอกสาร α-mangostin ขนาด 5 ก./กก. เข้าทางกระเพาะอาหาร แล้วเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดที่เวลา 30, 60, 120, 240, และ 360 นาที จากนั้นจึงติดตามอาการทุกวันเป็นเวลานา 14 วัน พบว่าไม่มีการตายและไม่พบความผิดปกติใด ๆ ของสัตว์ทดลอง จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สาร α-mangostin จากเปลือกมังคุดมีประสิทธิภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับบรรเทาภาวะกรดยูริกในเลือดสูง

J Nat Prod. 2023;86:24-33. doi:10.1021/acs.jnatprod.2c00531.