ประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาสหัศธาราในผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมบริเวณขาส่วนล่าง

การศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมบริเวณขาส่วนล่าง จำนวน 62 คน อายุ 45-75 ปี แบ่งออกเป็น กลุ่มที่ได้รับยาแคปซูลสหัศธารา ขนาด 500 มก. ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3ครั้ง ก่อนอาหาร เป็นเวลา 28 วัน และกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก โดยทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับการเสริมวิตามิน บี1 ขนาด 100 มก. หลังอาหารเช้า ประเมินผลด้วยแบบประเมินทางระบบประสาท Michigan Neuropathy Screening Instrument (MNSI), แบบประเมินความเจ็บปวด Short-form McGill, แบบประเมินอาการทางระบบรับความรู้สึก The Neuropathy Total Symptom Score-6 (NTSS-6) และแบบประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวาน Diabetes-39 ผลการศึกษาพบว่าในกลุ่มที่ได้รับยาสหัศธารา คะแนนความเจ็บปวดและคะแนนของอาการทางระบบรับความรู้สึกได้แก่ อาการเจ็บปวด ตึงๆ และมึนชา คะแนนคุณภาพชีวิตมิติด้านความมีเรี่ยวแรงและความกระปรี้กระเปร่าลดลงแตกต่างกับกลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ค่าการทำงานของตับและไตอยู่ในเกณฑ์ปกติ อาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้แก่ อาการปวดแสบร้อนท้อง ปากแห้งคอแห้ง เวียนศีรษะ และท้องผูก ซึ่งมีระดับความรุนแรงอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง จะเห็นว่ายาสหัศธารามีผลช่วยลดอาการทางระบบรับความรู้สึก อาการปวด และอาการมึนชาของผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมบริเวณขาส่วนล่างได้ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง

วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2566;21(2):245-62.