ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของใบงาขี้ม้อนจากประเทศไทย

การทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัด 70% เอทานอลจากใบงาขี้ม้อนไทย ทั้งใบสดและแห้ง ได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการก่อกลายพันธุ์ และลดการอักเสบ พบว่าสารสกัดจากใบสดและแห้งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยค่า IC50 ของสารสกัดจากใบสดและแห้ง เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH เท่ากับ 12.5 และ 6.2 มคก./มล. ตามลำดับ และการทดสอบด้วยวิธี ABTS เท่ากับ 2.1 และ 1.1 มคก./มล. ตามลำดับ การทดสอบในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวเคลียสเดียวของคน (human peripheral blood mononuclear cells) พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ชนิด ความเข้มข้น 12.5-100 มคก./มล. มีผลยับยั้งการสร้าง reactive oxygen species (ROS) ในเซลล์ได้ ซึ่งฤทธิ์แปรผันตามความเข้มข้น สารสกัดทั้ง 2 ชนิด ความเข้มข้น 50-400 มคก./จานเพาะเชื้อ มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ เมื่อทดสอบในเชื้อ Salmonella typhimurium สายพันธุ์ TA98 และ TA100 การศึกษาฤทธิ์ลดการอักเสบในเซลล์ macrophage RAW 264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสารไลโปโพลีแซคคาไรด์ พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ชนิด มีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ โดยยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ ลดการแสดงออกของเอนไซม์ iNOS, COX-2 ยับยั้งการสร้าง TNF-α, IL-6 และ IL1-β จากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีพบว่า มีปริมาณสารฟีนอลิกรวมของสารสกัดจากใบงาขี้ม้อนแห้งและสด เท่ากับ 748.0±4.9 และ 469.5±4.2 มก. gallic acid equivalent (GAE)/ก. สารสกัด ตามลำดับ และปริมาณสารฟลาโวนอยด์รวมของสารสกัดจากใบงาขี้ม้อนแห้งและสด เท่ากับ 977.0±37.2 และ 303.2±11.8 มก. catechin equivalents (CE)/ก. สารสกัด ตามลำดับ สารสำคัญที่พบในสารสกัดจากใบสดและแห้ง ได้แก่ rosmarinic acid, chlorogenic acid, caffeic acid, ferulic acid และ luteolin จากการศึกษาจะพบว่า สารสกัดจากใบงาขี้ม้อนไทยทั้งใบสดและแห้ง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการก่อกลายพันธุ์ และลดการอักเสบได้ โดยสารสกัดจากใบสดจะให้ผลยับยั้งการสร้าง ROS ต้านการก่อกลายพันธุ์ และลดการอักเสบได้ดีกว่าสารสกัดจากใบแห้ง ขณะที่สารสกัดจากใบแห้งมีผลต้านอนุมูลอิสระโดยจับกับกับอนุมูลอิสระได้ดีกว่าสารสกัดจากใบสด

Plants. 2023;12,2210. doi: 10.3390/plants12112210.