ฤทธิ์ต้านมาลาเรียของตำรับยาที่เตรียมจากสมุนไพรในตำรับยาเขียวหอม

การศึกษาฤทธิ์ต้านมาลาเรียของตำรับยาที่เตรียมจากสมุนไพรในตำรับยาเขียวหอม โดยทดสอบเตรียมตำรับยาใหม่จำนวน 7 ตำรับ ในแต่ละตำรับประกอบด้วยพืชอย่างน้อย 3 ชนิด จากพืช 6 ชนิดที่เลือกมาจากตำรับยาเขียวหอม ได้แก่ ดอกสารภี Mammea siamensis Kosterm., ดอกบุนนาค Mesua ferrea L., แก่นจันทร์แดง Dracaena loureiroi Gagnep., ใบพิมเสนต้น Pogostemon cablin (Blanco) Benth., เหง้าเปราะหอม Kaempferia galanga L, และ ใบสันพร้าหอม Eupatorium stoechadosmum Hance จากนั้นทำการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดน้ำและสารสกัดเอทานอลตำรับยาต่อการยับยั้งเชื้อมาลาเรีย ด้วยวิธีการตรวจสอบ parasite lactate dehydrogenase (pLDH) และทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ในเซลล์เพาะเลี้ยง (vero cell) และเซลล์มะเร็งตับ (HepG2 cells) ด้วยวิธี MTT assay ผลพบว่าสารสกัดเอทานอลตำรับที่ 1 มีฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งเชื้อ ด้วยค่า IC50 1.32 ± 0.66 มคก./มล. ตามมาด้วยสารสกัดเอทานอลตำรับที่ 4 และ 6 ด้วยค่า IC50 1.52 ± 0.28 และ 2.48 ± 0.34 มคก./มล. ตามลำดับ และในการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์พบค่า selectivity index (SI) สูงที่สุดในสารสกัดเอทานอลตำรับที่ 1 จึงคัดเลือกตำรับดังกล่าวไปทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียในหนูเม้าส์ด้วยวิธี Peter’s 4-day suppressive test ผลพบว่าสารสกัดเอทานอลตำรับที่ 1 ขนาด 200, 400 และ 600 มก./กก. ให้ผลยับยั้งเชื้อในหนูเม้าส์ได้ตามขนาดของสารสกัดที่ได้รับ การทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน ด้วยการป้อนสารสกัดเอทานอลตำรับที่ 1 ขนาด 2,000 มก./กก. แบบครั้งเดียวให้แก่หนูเม้าส์ ไม่ก่ออาการพิษ การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเอทานอลตำรับที่ 1 พบ ethyl p-methoxycinnamate (14.32%), 2-propenoic acid, 3-phenyl-,ethyl ester, (E)- (2.50%), และ pentadecane (1.85%) เป็นสารองค์ประกอบหลัก การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดเอทานอลตำรับที่ 1 สามารถยับยั้งเชื้อมาลาเรียในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง และไม่ก่อความเป็นพิษเมื่อป้อนที่ขนาดสูง 2,000 มก./กก. จึงควรศึกษาเพิ่มเติมทางคลินิกเพื่อนำไปใช้เป็นทางเลือกในการรักษาโรคมาลาเรียต่อไปในอนาคต

หมายเหตุ :
- ตำรับยาที่ 1 ประกอบด้วยดอกสารภี ดอกบุนนาค แก่นจันแดง ใบพิมเสนต้น เหง้าเปราะหอม และใบสันพร้าหอม อย่างละ 10 ก.
- ตำรับยาที่ 4 ประกอบด้วยดอกสารภี ดอกบุนนาค และแก่นจันทร์แดง อย่างละ 20 ก.
- ตำรับยาที่ 6 ประกอบด้วยแก่นจันทร์แดง ใบพิมเสนต้น เหง้าเปราะหอม และใบสันพร้าหอม อย่างละ 15 ก.

BMC Complement Med Ther. 2023;23:144.