ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสารโพลีแซคคาไรด์จากดอกกล้วยไม้สกุลหวาย

การศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสารโพลีแซคคาไรด์จากดอกกล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium officinale) ในหนูเม้าส์ที่เหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวานด้วย streptozotocin ผลพบว่าเมื่อป้อนสารโพลีแซคคาไรด์จากดอกกล้วยไม้สกุลหวาย ขนาด 800 มก./กก. ให้แก่หนูเม้าส์เบาหวาน ติดต่อกัน 35 วัน มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังการอดอาหารอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสารโพลีแซคาไรด์จากดอกกล้วยไม้มีผลเพิ่มปริมาณอินซูลินในเลือดและลดภาวะดื้อต่ออินซูลินในหนู นอกจากนี้สารโพลีแซคคาไรด์จากดอกกล้วยไม้มีผลระดับคอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอร์ไรด์ คอลเลสเตอรอลชนิด LDL รวมถึงมีผลเพิ่มค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ปรับปรุงความเสียหายของตับและตับอ่อนในหนูเม้าส์เบาหวาน การวิเคราะห์เชื้อแบคทีเรียในลำไส้ด้วยการศึกษาลำดับนิว คลีโอไทป์ พบว่าสารโพลีแซคคาไรด์จากดอกกล้วยไม้กระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ได้แก่ Lactobacillus และ Bifidobacteriaceae และการศึกษาการแสดงออกของยีนด้วยวิธี RT-PCR analysis พบการแสดงออกของยีน Glut2, Gck, Pklr, Insr, Pdx-1 และ Ins1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมทาบอลิสมน้ำตาลและไขมันเพิ่มมากขึ้น และการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการตายของเซลล์ Caspase-3 มีค่าลดลง แสดงให้เห็นว่าสารโพลีแซคคาไรด์จากดอกกล้วยไม้สกุลหวายมีความสามารถในการต้านเบาหวานและลดระดับไขมันในหนูเม้าส์ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2

J Funct Food. 2023;106:105579