ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเบาหวาน และความเป็นพิษของสารสกัดจากดอกว่านหางจระเข้

สารสกัดเมทานอลจากดอกว่านหางจระเข้ ความเข้มข้น 6.25-3,200 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH โดยฤทธิ์แปรผันตามความเข้มข้นและสามารถต้านอนุมุลอิสระได้เทียบเท่ากับวิตามินซี (ความเข้มข้น 5-40 มคก./มล.) สารสกัดมีปริมาณของสารฟีนอลิกและสารฟลาโวนอยด์รวม เท่ากับ 150.44±4.62 มก. สมมูลของกรดแกลลิก (gallic acid equivalent, GAE)/ก. สารสกัด และ 70.38±0.97 011 มก. สมมูลของ เควอซิติน (quercetin equivalent, QE)/ก. สารสกัด ตามลำดับ การทดสอบฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยสาร alloxan โดยป้อนสารสกัดขนาด 200 และ 500 มก./กก. เป็นเวลา 14 วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide ขนาด 5 มก./กก. และกลุ่มควบคุม พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ขนาด มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ 51.8% และ 65.6% ตามลำดับ ขณะที่ยา glibenclamide ลดได้ 40%และมีผลเพิ่มน้ำหนักตัวของหนูที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม การตรวจลักษณะจุลพยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อตับอ่อนพบว่า สารสกัดโดยเฉพาะที่ขนาด 500 มก./กก. มีผลปกป้องตับอ่อนจากการถูกทำลายด้วยสาร alloxan ได้ ในการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน โดยป้อนหนูแรทด้วยสารสกัด ขนาด 200 มก., 2, 4, 8 และ 10 ก./กก. นน.ตัว เพียงครั้งเดียว พบว่าสารสกัดทุกขนาดไม่ก่อให้เกิดพิษเฉียบพลัน และไม่ทำให้หนูตาย

J Ethnopharmacol. 2023;309,116310.