ผลของยาฉีด diterpene lactone meglumine จากใบแปะก๊วยต่อการต้านเกล็ดเลือดในผู้ป่วยที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง

ginkgo diterpene lactone meglumine injection (GDLI) เป็นยาฉีดที่ประกอบด้วยสารสำคัญจากใบแปะก๊วย ได้แก่ ginkgolide A (1.6 มก./มล.), ginkgolide B (2.9 มก./มล.) และ ginkgolide K (0.19 มก./มล.) ซึ่งในประเทศจีนใช้ในการรักษาภาวะสมองตายจากการขาดเลือดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง (mild to moderate cerebral infarction) จากการศึกษาแบบสุ่มและปกปิดทั้ง 2 ฝ่าย (randomized, double-blind, placebo-controlled trial) ในผู้ป่วยที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง จำนวน 70 คน ทั้งเพศชายและหญิง อายุเฉลี่ย 73.07 ± 10.83 ปี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละเท่าๆ กัน กลุ่มที่ 1 ได้รับการฉีดยา GDLI ขนาด 25 มก. (5 มล.)/วัน เจือจางในน้ำเกลือ 250 มล. เข้าทางหลอดเลือดดำ นาน 14 วัน ร่วมกับการฉีดยาแอสไพริน ขนาด 100 มก./วัน เข้าทางหลอดเลือดดำ นาน 90 วัน ในอัตราการฉีด 20 - 40 หยด/นาที (ประมาณ 3 ชม.) กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มยาหลอกโดยฉีดน้ำเกลือในขนาดที่เท่ากับยา GDLI นาน 14 วัน ร่วมกับการฉีดยาแอสไพริน ขนาด 100 มก./วัน เข้าทางเส้นเลือด นาน 90 วัน ดูการทำงานของระบบประสาท และเกล็ดเลือด โดยประเมินจากค่า National Institute of Health Stroke Scale (NIHSS), modified Rankin Scale (mRS), Arachidonic acid induced maximum platelet aggregation rate (AA-MAR) และ Mean Platelet Volume (MPV) พบว่ากลุ่มที่ได้รับยา GDLI ร่วมกับยาแอสไพริน มีค่า NIHSS, mRS, AA-MAR และ MPV ลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้ยาแอสไพรินอย่างเดียว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และกลุ่มที่ได้รับยา GDLI ร่วมกับยาแอสไพริน ให้ผลการศึกษาที่ดีเกี่ยวกับการต้านการทำงานของระบบประสาท และเกล็ดเลือดถึง 33 ราย คิดเป็น 94.28% ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับแอสไพรินอย่างเดียวให้ผลการศึกษาที่ดี 28 ราย คิดเป็น 83.33% ซึ่งจากการศึกษาสรุปได้ว่าการได้รับยา GDLI ร่วมกับแอสไพริน มีผลต้านการทำงานของเกล็ดเลือด ทำให้การทำงานของระบบประสาทและการพยากรณ์ของโรค (prognosis) ในผู้ป่วยที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงดีขึ้นกว่าการใช้ยาแอสไพรินแต่เพียงอย่างเดียว

Phytother Res. 2023;1-11. doi: 10.1002/ptr.7720.