ผลของหญ้าฝรั่นต่อระดับสารก่อการอักเสบในเลือดและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ

การศึกษาในผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 80 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับยาเม็ดหญ้าฝรั่น ขนาด 100 มก./วัน และกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก (maltodextrin) ขนาด 100 มก./วัน ทำการศึกษาเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 75 คน ที่อยู่จนครบการศึกษา โดยผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับหญ้าฝรั่นมีระดับของสารก่อการอักเสบ ได้แก่ tumor necrosis factor-alpha (TNF-α) และ high-sensitivity C-reactive protein (hs-CRP) ในเลือดลดลง ขณะที่ระดับของ interleukin (IL)-10 ซึ่งเป็นสารต้านการอักเสบเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ระดับของ IL-17 และอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงในเวลาหนึ่งชั่วโมง (erythrocyte sedimentation rate; ESR) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการอักเสบในทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน เมื่อประเมินผลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วยแบบประเมิน inflammatory bowel disease questionnaire (IBDQ-9) ก่อนและหลังการศึกษา พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับหญ้าฝรั่นมีคะแนนของแบบประเมิน IBDQ-9 เพิ่มขึ้น แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม อาจเนื่องมาจากการศึกษาในระยะเวลาสั้น ไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายจากการใช้หญ้าฝรั่น จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า หญ้าฝรั่นมีผลลดระดับของสารก่อการอักเสบในผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบได้

J Herb Med. 2022;36,100593.