การศึกษาทางคลินิกผลของการรับประทานแก้วมังกรต่อการทำงานของหลอดเลือด

การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครวัยรุ่นทั้งเพศชายและหญิง สุขภาพดีและไม่สูบบุหรี่ จำนวน 19 คน อายุ 18 - 40 ปี แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ให้รับประทานผงจากผลแก้วมังกรชนิดเนื้อสีแดงเปลือกสีแดง (Hylocereus polyrhizus) วันละ 24 ก. (ประกอบด้วยสารกลุ่ม betalains 33 มก.) เป็นระยะเวลา 14 วัน และกลุ่มยาหลอก อาสาสมัครมีระยะพักอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้สลับการทดสอบ ประเมินผลการทดสอบด้วยการวัดการทำงานของหลอดเลือด การขยายตัวของหลอดเลือดหลังถูกปิดกั้นการไหลเวียน (flow mediated dilation; FMD) ภาวะหลอดเลือดแข็ง (arterial stiffness) และความดันโลหิต ในช่วง 0, 1, 2, 3 และ 4 ชม. หลังจากทำการทดสอบในแต่ละวัน มีอาสาสมัครจำนวน 18 คน ที่ผ่านการทดสอบเสร็จสมบูรณ์ พบว่าการรับประทานแก้วมังกรมีผลต่อการปรับปรุงค่า FMD เฉียบพลันที่ 2 ชม. (+0.8 ± 0.3%, P = 0.01), 3 ชม. (+1.0 ± 0.3%, P = 0.001) และ 4 ชม. (+1.3 ± 0.4%, P < 0.001) หลังจากทำการทดสอบ เปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก จนถึงวันที่ 14 ของการทดสอบ (+1.3 ± 0.2%, P < 0.001) ความเร็วคลื่นความดันเลือดแดง (pulse wave velocity; PWV) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่ 3 ชม. (–0.5 ± 0.2 ม./นาที, P = 0.003) ดัชนีการเพิ่มสูงขึ้นของคลื่นความดันเลือดแดง (augmentation index; AIx) ปรับปรุงดีขึ้นในวันที่ 14 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก ไม่มีความแตกต่างกันของความดันโลหิตส่วนปลายและค่าความดันโลหิตส่วนกลางในช่วงเวลาการทดสอบต่าง ๆ สรุปได้ว่าจากการประเมินแบบเฉียบพลันและในระยะสั้นของการรับประทานผลแก้วมังกรที่อุดมไปด้วยสารกลุ่ม betalains นั้น มีผลต่อการปรับปรุงการทำงานของหลอดเลือดและการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งในอาสาสมัครสุขภาพดี อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

Am J Clin Nutr. 2022;115(5):1418-31. doi: 10.1093/ajcn/nqab410.