ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของน้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรีต่อภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่องในหนูแรท

การทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของน้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรี (Rosmarinus officinalis L.; rosemary) ต่อภาวะฮอร์โมนเพศชายบกพร่องในหนูแรท โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยการฉีดยา etoposide ขนาด 1 มก./กก.นน.ตัว/วัน เข้าทางช่องท้อง กลุ่มที่ได้รับน้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรีขนาด 250 มก./กก.วัน ผ่านทางปาก กลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยยา etoposide ขนาด 1 มก./กก.นน.ตัว/วัน เข้าทางช่องท้อง และได้รับน้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรีขนาด 250 มก./กก.วัน ผ่านทางปาก และกลุ่มควบคุมปกติ ทำการทดสอบเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ประเมินผลการทดสอบด้วยการตรวจค่าต่าง ๆ ในเลือด ได้แก่ alkaline phosphatase (ALP), alanine aminotransferase (ALT), aspartate aminotransferase (AST), triglyceride, low-density lipoprotein-Cholesterol (LDL-C), high-density lipoprotein-cholesterol (HDL-C), total cholesterol, total protein, glucose และ testosterone จากนั้นทำให้หนูตายแล้วแยกอัณฑะด้านซ้ายออกมาวิเคราะห์ทางจุลกายวิภาคศาสตร์ ผลการทดสอบพบว่าหนูที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยการฉีดยา etoposide มีค่า ALT, AST และ ALP สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มของค่าน้ำตาลในเลือด กลุ่มที่ได้รับน้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรีมีระดับ cholesterol และ triglyceride ลดลง และ HDL เพิ่มขึ้น ระดับ testosterone เพิ่มขึ้น แต่ระดับ ALT และ AST ลดลง หนูที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยการฉีดยา etoposide มีความสูงของเซลล์เยื่อบุของหลอดสร้างอสุจิลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ได้รับน้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรีมีผลเสียของเซลล์เยื่อบุของหลอดสร้างอสุจิในอัณฑะจากการถูกเหนี่ยวนำด้วยยา etoposide น้อยกว่า จากผลการทดสอบครั้งนี้สรุปได้ว่าน้ำมันหอมระเหยจากโรสแมรีมีผลลดการเกิดความเป็นพิษของตับและการทำลายอัณฑะจากยา etopside ในหนูแรทได้

Tissue Cell. 2023;81:102016. doi: 10.1016/j.tice.2023.102016.