ผลของใบโรสแมรีบดผงต่อผู้ป่วยไขมันพอกตับ

การศึกษาแบบสุ่มและปกปิดทั้ง 2 ฝ่าย ในผู้ป่วยไขมันพอกตับ จำนวน 110 คน แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ได้รับใบโรสแมรีบดผง (อายุเฉลี่ย 42.74 ± 8.18 ปี) และกลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ได้รับยาหลอก (ผงแป้ง) (อายุเฉลี่ย 39.95 ± 8.62 ปี) โดยให้รับประทานอาหารที่มีแคลอรีต่ำร่วมกับใบโรสแมรีบดผง หรือยาหลอก ขนาด 2 ก. วันละ 2 ครั้ง (4 ก./วัน) ก่อนอาหารกลางวัน และอาหารเย็น 30 นาที พร้อมกับการออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ นาน 8 สัปดาห์ พบว่าทั้ง 2 กลุ่ม มีค่าเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับ ได้แก่ alanine aminotransferase (ALT), aspartate aminotransferase (AST), alkaline phosphatase (ALP), gamma glutamyltransferase (GGT), ระดับน้ำตาลในเลือดช่วงอดอาหาร (fasting blood glucose), ระดับอินซูลิน, ค่า homeostatic model assessment- insulin resistance (HOMA-IR) ซึ่งแสดงถึงภาวะดื้อต่ออินซูลิน, ค่า quantitative insulin sensitivity check index (QUICKI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความไวของอินซูลิน, ระดับคอเลสเตอรอลรวม, ไตรกลีเซอไรด์, ระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL (low-density lipoprotein cholesterol), น้ำหนักตัว, ค่าดัชนีมวลกาย และเส้นรอบเอว ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเริ่มการศึกษา โดยกลุ่มที่ได้รับใบโรสแมรีบดผงจะให้ผลดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก อย่างไรก็ตามหลังจาก 8 สัปดาห์ ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มที่ได้รับใบโรสแมรีบดผงและกลุ่มยาหลอกในตัวแปรต่างๆ ตามที่กล่าวข้างต้น ยกเว้นค่า homeostasis model assessment of β-cell dysfunction (HOMA-B) ซึ่งแสดงถึงการทำงานของเบต้าเซลล์จะเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่ได้รับใบโรสแมรีบดผง จากการศึกษาสรุปได้ว่า การรับประทานใบโรสแมรีบดผงขนาด 4 ก./วัน ร่วมกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย มีผลต่อค่าเอนไซม์ในตับ ระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดของผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับ แต่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาขนาดที่เหมาะสมและความปลอดภัยในการใช้ในผู้ป่วย

Phytother Res. 2022;36:2186-96. doi: 10.1002/ptr.7446.