ส่วนสกัดด้วยเฮกเซน (H1-H10), ส่วนสกัดด้วยเอทิลอะซีเตท (E1-E11) และส่วนสกัดด้วยเมทานอล (M1-M5) ที่แยกได้จากผลยอดิบ ความเข้มข้น 0.1 มก./มล. เมื่อนำมาศึกษาฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH พบว่าส่วนสกัดด้วยเอทิลอะซีเตท (E11) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด มีค่า IC50 เท่ากับ 1.19±0.27 มก./มล. การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase, α-amylase และ tyrosinase พบว่าส่วนสกัด H10, E11 และ M5 มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ทั้ง 3 ชนิด ได้ดีกว่าส่วนสกัดอื่นๆ โดยส่วนสกัด E11 สามารถยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ได้ดีกว่าส่วนสกัด M5 และ H10 (IC50 0.43±0.02, 0.85±0.03 และ 1.51±0.32 มก./มล. ตามลำดับ) ขณะที่ส่วนสกัด M5 สามารถยับยั้งเอนไซม์ α-amylase ได้ดีกว่าส่วนสกัด E11 และ H10 (IC50 0.13±0.02, 0.58±0.09 และ 2.95±0.62 มก./มล. ตามลำดับ) และส่วนสกัด M5 มีผลยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ได้ดีกว่าส่วนสกัด E11 และ H10 (IC50 0.37±0.06, 0.67±0.02,และ 1.20±0.25 มก./มล. ตามลำดับ) แต่ฤทธิ์ยับยั้งของส่วนสกัดจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน acarbose (IC50 0.13±0.02 และ 0.08±0.01 มก./มล.) และ kojic acid (0.09±0.01 มก./มล.) สำหรับการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ของส่วนสกัด H10, E11 และ M5 ในเซลล์ human keratinocyte (HaCaT) พบว่าส่วนสกัดที่ความเข้มข้น 0.1-0.8 มก./มล. ไม่ทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ที่ทดสอบ เมื่อวิเคราะห์ปริมาณสารฟีนอลิกรวมและสารฟลาโวนอยด์รวมของส่วนสกัด พบว่าส่วนสกัดด้วยเมทานอลมีปริมาณสารฟีนอลิกรวมสูงที่สุด [38.7-83.2 มก. สมมูลของกรดแกลลิก (GAE)/ก. สารสกัด] ขณะที่ส่วนสกัดด้วยเอทิลอะซีเตท (E11) มีปริมาณสารฟลาโวนอยด์รวมสูงที่สุด [94.0 มก.สมมูลของ เคอร์ซิติน (QE)/ก. สารสกัด]
Songklanakarin J Sci Technol. 2022;44(3):735-43.