ฤทธิ์ในการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลําไส้ ต้านภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และต้านการอักเสบ ของสารสกัดจากเปลือกถั่วเขียว

การทดสอบฤทธิ์ในการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลําไส้ ต้านภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และต้านการอักเสบของสารสกัดจากเปลือกถั่วเขียวที่สกัดด้วยเทคนิคของเหลวความดันสูงโดยใช้ 50% เอทานอลเป็นตัวทำละลาย ทดสอบฤทธิ์ในการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลําไส้ในหลอดทดลองโดยการหมักอุจจาระด้วยสารตั้งต้น 24 ชั่วโมง พบว่าสารสกัดจากเปลือกถั่วเขียวมีฤทธิ์ต่อการสร้างกรดไขมันสายสั้นทั้งหมดสูงกว่ากลุ่มควบคุมและกลุ่มที่หมักด้วยสาร polyphenols ได้แก่ gallic acid และ vitexin แต่ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมบวกที่หมักด้วย fructo-oligosaccharide จากการวิเคราะห์เชื้อแบคทีเรียด้วยการศึกษาลำดับนิวคลีโอไทป์ 16S-rRNA sequences พบว่าสารสกัดจากเปลือกถั่วเขียวมีฤทธิ์กระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ได้แก่ Enterococcus, Ruminococcus, Blautia และ Bacteroides และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรค ได้แก่ Escherichia-Shigella จากการตรวจหาแบคทีเรียด้วยเทคนิค quantitative real-time polymerase chain reaction (qPCR) พบว่าสารสกัดจากเปลือกถั่วเขียวมีฤทธิ์เพิ่มจำนวนแบคทีเรีย Bifidobacterium, Lactobacillus, Faecalibacterium prausnitzii และ Prevotella เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม สารสกัดจากเปลือกถั่วเขียวยังมีฤทธิ์ลดอนุมูลอิสระ เพิ่มการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์จากการทดสอบในภาวะดื้อต่ออินซูลินในเซลล์ HepG2 โดยขึ้นอยู่กับขนาดของสารสกัด และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในเซลล์ THP-1 monocyte ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharides (LPS) โดยลดการแสดงออกของยีน TNF-α, IL-1, IL-6 และ IL-8 จากผลการทดสอบสรุปได้ว่าสารสกัดจากเปลือกถั่วเขียวมีฤทธิ์ปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลําไส้ ต้านภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และต้านการอักเสบในหลอดทดลอง

Nutrients. 2022;14(11):2275. doi: 10.3390/nu14112275.