การทดสอบฤทธิ์ของผลพรวด (Rhodomyrtus tomentosa Hassk.) ต่อการป้องกันการเกิดโรคไขมันสะสมในตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (non alcoholic fatty liver disease; NAFLD) ในหนูเม้าส์ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ให้อาหารปกติ กลุ่มที่ให้อาหารปกติและให้สารสกัดเอทานอลจากผลพรวดขนาด 200 มก./กก.นน.ตัว/วัน กลุ่มที่ให้อาหารไขมันสูง กลุ่มที่ให้อาหารไขมันสูงและให้สารสกัดผลพรวดขนาด 100 และ 200 มก./กก.นน.ตัว/วัน ตามลำดับ ทำการทดสอบเป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ ผลการทดสอบพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดผลพรวดทำให้การถูกทำลายของตับลดลง ลดการอักเสบในตับ ค่าการทำงานของตับที่บ่งชี้ความผิดปกติของตับ ภาวะเครียดออกซิเดชัน ค่าไขมัน และไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ จากการวิเคราะห์เกี่ยวกับสารเมแทบอไลต์พบว่าสารสกัดผลพรวดมีผลต่อวิถีเมแทบอลิซึมของสาร tryptophan, alanine, aspartate, glutamate, D-glutamine, D-glutamate, cysteine, methionine, arginine และ proline ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาวะเครียดออกซิเดชันและการอักเสบ และจากการศึกษาเปรียบเทียบการแสดงออกของยีนที่แตกต่างกัน (differentially expressed genes, DEGs) พบว่าตับของหนูเม้าส์ที่ได้รับอาหารไขมันสูงมีการแสดงออกของยีน Inhbb ลดลง และการแสดงออกของยีน Tnfrsf21, Ifit1, Mapk15 และ Gadd45g ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเพิ่มขึ้น และมีผลในการกระตุ้นการส่งสัญญาณของวิถีที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ cytokine-cytokine receptor interaction, NF-кB, NOD-like receptor และ TNF ส่วนหนูเม้าส์ที่ได้รับสารสกัดผลพรวดมีผลในการควบคุมวิถีดังกล่าว จากผลการทดสอบสรุปได้ว่าสารสกัดผลพรวดมีผลในการควบคุมการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในเซลล์ตับของหนูเม้าส์ และยับยั้งวิถี TLR4-NF-кB ที่ทำให้เกิดความเป็นพิษในเซลล์ตับจากการได้รับอาหารไขมันสูง มีผลต่อการป้องกันการเกิดโรคไขมันสะสมในตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในหนูเม้าส์ได้
Food Res Int. 2022;151:110824. doi: 10.1016/j.foodres.2021.110824.