การศึกษาทางคลินิกผลของการรับประทานถั่วเหลืองในระยะยาวต่อการทำงานของหลอดเลือดและกลุ่มอาการความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุ

การศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับผลของการรับประทานถั่วเหลืองในระยะยาวต่อการทำงานของหลอดเลือดและกลุ่มอาการความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุ โดยทำการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดีทั้งเพศหญิงและชายจำนวน 23 คน อายุระหว่าง 60 - 70 ปี มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) 20 - 30 กก./ม.2 แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ให้รับประทานถั่วเหลือง 67 ก./วัน (โปรตีน 25.5 ก. และสาร isoflavones 174 มก.) เป็นระยะเวลา 16 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่รับประทานถั่วเหลือง แล้วสลับการทดสอบ โดยมีระยะพัก 8 สัปดาห์ ผลการทดสอบพบว่าการรับประทานถั่วเหลืองไม่ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดร้ายแรง อาสาสมัครมีน้ำหนักตัวคงที่ตลอดการทดสอบ วัดค่าพลังงานและสารอาหารที่ได้รับพบว่าได้รับโปรตีนในปริมาณสูง (3.1 energy percent [En%]) และคาร์โบไฮเดรตในปริมาณต่ำ (2.0 En%) และได้รับไขมันทั้งหมดใกล้เคียงกัน แต่ปริมาณไขมันอิ่มตัว (-1.3 En%) ไขมันไม่อิ่มตัวชนิด cis-monounsaturated (-1.5 En%) และ cis-polyunsaturated (+1.9 En%) แตกต่างกัน และพบว่าปริมาณสาร isoflavones ในเลือดสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (daidzein: 127.8 นก./มล.; 95% CI: 74.3 - 181.3 นก./มล.; p < 0.001 และ genistein: 454.2 นก./มล.; 95% CI: 266.6 - 641.8 นก./มล.; p < 0.001) การประเมินผลการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือดโดยการวัดการขยายตัวของหลอดเลือดต่อการไหลเวียนโลหิต (brachial artery flow mediated vasodilation: FMD) พบว่ากลุ่มที่รับประทานถั่วเหลืองมีค่าสูงขึ้น 1.48 percent points (pp; 95% CI: 0.08 - 2.89 pp; p = 0.040) ค่าการตอบสนองของหลอดเลือดแดง (carotid artery reactivity response) และสภาวะความแข็งของหลอดเลือดแดง (arterial stiffness) ไม่แตกต่างกันในทั้งสองกลุ่ม กลุ่มที่รับประทานถั่วเหลืองมีระดับคอเลสเตอรอล LDL ลดลง (0.17 มิลลิโมล/ลิตร; 95% CI: 0.02 - 0.32 มิลลิโมล/ลิตร; p = 0.027) และค่าความดันหลอดเลือดแดงเฉลี่ยลดลง (3 มิลลิเมตรปรอท; 95% CI: 0 - 6 มิลลิเมตรปรอท; p = 0.035) แต่ไม่มีผลต่อระดับคอเลสเตอรอล HDL และ triacylglycerol จากผลการทดสอบครั้งนี้สรุปได้ว่าการรับประทานถั่วเหลืองในระยะยาวมีผลในการปรับปรุงการทำงานของหลอดเลือด รวมกับการลดระดับ LDL และค่าความดันหลอดเลือดแดงเฉลี่ยในอาสาสมัครสุขภาพดี อาจเป็นประโยชน์ในการลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุได้

Clin Nutr. 2022;41(5):1052-8.