การศึกษาประสิทธิภาพของมะขามป้อมเพื่อใช้เป็นยารักษาเสริม (add-on therapy) ในผู้ป่วยโรคโควิด-19

การศึกษาแบบ randomized, double-blind, controlled trial ถึงประสิทธิภาพของผลมะขามป้อม (Phyllanthus emblica L.) เพื่อใช้เป็นยารักษาเสริม (add-on therapy) ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จำนวน 61 คน โดยการศึกษาแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับชามะขามป้อม ขนาด 2 ก. ชงในน้ำร้อน 100 ซีซี รับประทานวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน ร่วมกับการได้รับการรักษาด้วยยา hydroxychloroquine sulfate ขนาด 200 มก. และยา lopinavir/ritonavir (Kaletra) ทุก 12 ชั่วโมง หลังอาหาร เป็นเวลา 7-14 วัน และกลุ่มควบคุมที่ได้รับชายาหลอกร่วมกับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน ประเมินผลโดยการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR เปรียบเทียบก่อนและหลังการรักษา ระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล ภาพถ่ายรังสีของปอด การเปลี่ยนแปลงอาการทางคลินิก และค่าดัชนีชี้วัดทางห้องปฏิบัติการ ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่รับการรักษาเสริมด้วยชามะขามป้อมมีระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่ากลุ่มควบคุม (เฉลี่ย 4.44 และ 7.18 วัน ตามลำดับ) และผู้ป่วยมีอาการไข้ ความรุนแรงของการไอ หายใจไม่อิ่ม และปวดกล้ามเนื้อน้อยกว่ากลุ่มควบคุม อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างของปริมาณเชื้อไวรัส อัตราการหายใจ อาการหนาวสั่น เจ็บคอ และอ่อนแรงในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มที่ได้รับชามะขามป้อมมีค่าความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้น ค่าความเสียหายต่อปอดและระดับ C-reactive protein ซึ่งบ่งถึงการอักเสบในร่างกายมีค่าลดลง การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าชามะขามป้อมไม่มียับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่มีผลลดความรุนแรงอาการของโรคและลดการอักเสบในร่างกาย เป็นผลให้ผู้ป่วยใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสั้นลง

Complement Ther Med. 2022;65:102808