สารสกัดจากใบมะละกอด้วย 80% เมทานอล ได้แก่ carpaine, methyl gallate, loliolide, rutin, clitorin, kaempferol-3-O-neohesperidoside, isoquercetin, nicotiflorin, และ isorhamnetin-3-O-β-D-glucopyranoside เมื่อนำสารดังกล่าวมาทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเต้านม (MCF-7) ด้วยวิธี MTT assay พบว่าค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ร้อยละ 50 (IC50) มีค่าเท่ากับ 13.7 ± 0.78, 1.11 ± 0.06, 28.2 ± 1.61, 25.6 ± 1.46, 2.47 ± 0.14, 3.58 ± 0.2, 13.1 ± 0.75, 4.94 ± 0.28 และ 9.51 ± 0.54 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ ในขณะที่ยาต้านเซลล์มะเร็ง staurosporine มีค่า IC50 เท่ากับ 10.2 ± 0.58 ไมโครโมลาร์ จะเห็นได้ว่าสาร methyl gallate และ clitorin มีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบัน staurosporine นอกจากนี้สาร methyl gallate และ nicotiflorin มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของ รีเซ็ปเตอร์โปรตีนบริเวณผิวของเซลล์มะเร็ง EGFRwt (epidermal growth factor receptor) โดยที่ IC50 มีค่าเท่ากับ 37.30 ± 1.9 และ 41.08 ± 2.1 นาโนโมลาร์ ตามลำดับ ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับยาต้านเซลล์มะเร็ง erlotinib ที่ IC50 มีค่าเท่ากับ 35.94 ± 1.8 นาโนโมลาร์ และสาร methyl gallate กับ clitorin มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ aromatase (CYP19A) (เอนไซม์ aromatase จะพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม) โดยที่ IC50 มีค่าเท่ากับ 94.13 ± 5.51 และ 77.41 ± 4.53 นาโนโมลาร์ ตามลำดับ ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับยาต้านเซลล์มะเร็ง letrozole ที่ IC50 มีค่าเท่ากับ 77.72 ± 4.55 นาโนโมลาร์ จากการศึกษาสรุปได้ว่า สาร methyl gallate, clitorin และ nicotiflorin จากใบมะละกอ มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งเต้านมได้ใกล้เคียงกับยาแผนปัจจุบันดังกล่าว
RSC Adv. 2022;12:9154-62.