การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของน้ำมันหอมระเหยจากพืชในสกุล Ocimum 4 ชนิด ได้แก่ โหระพา (Ocimum basilicum), โหระพาช้าง (O. gratissimum), กะเพรา (O. tenuiflorum) และแมงกะแซง (O. canum) โดยทดสอบฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ, ลดการอักเสบ, ต้านเชื้อแบคทีเรีย และฆ่าลูกน้ำยุง พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากใบโหระพามีฤทธิ์สูงที่สุดในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH, hydrogen peroxide scavenging, ABTS และ FRAP (ค่า IC50 เท่ากับ 30.9±1.32, 27.4±2.04, 21.3±2.56 และ 79.3±2.77 มคก./มล. ตามลำดับ) และมีฤทธิ์ดีที่สุดในการลดการอักเสบ เมื่อทดสอบด้วยวิธี Nitric oxide radical scavenging และ Lipoxygenase inhibition assay (IC50 เท่ากับ 70.3±2.33 และ 60.3± 3.81 มคก./มล. ตามลำดับ) ในการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากใบโหระพาช้างมีฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านเชื้อ Staphylococcus aureus และ Salmonella enteritidis ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบโหระพามีฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านเชื้อ Pseudomonas aeruginosa และน้ำมันหอมระเหยจากใบโหระพาและโหระพาช้าง มีฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านเชื้อ Escherichia coli เมื่อทดสอบฤทธิ์ต่อลูกน้ำของยุง 3 ชนิด ได้แก่ ยุงแม่ไก่ (Armigeres subalbatus), ยุงลาย (Aedes aegypti) และยุงรำคาญ (Culex tritaeniorhynchus) พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากใบโหระพา จะมีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำของยุงลายและยุงรำคาญได้ดีที่สุด รองลงมา คือ โหระพาช้าง แมงกะแซง และกะเพรา แต่น้ำมันหอมระเหยทุกชนิดมีผลน้อยมากต่อลูกน้ำยุงแม่ไก่ และการทดสอบความเป็นพิษของน้ำมันหอมระเหยในเซลล์หัวหอม (Allium cepa test) และความเป็นพิษต่อปลาหางนกยูง พบว่าน้ำมันหอมระเหยทุกชนิด ไม่ทำให้เกิดพิษในการทดสอบทั้ง 2 วิธี
Molecules. 2022;27,1456. doi:10.3390/molecules27051456.