ผลลดความดันโลหิตของหญ้าหางม้า

การศึกษาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงระดับ 1 (stage 1 hypertension) อายุ 25-65 ปี จำนวน 58 ราย แบ่งออกเป็น กลุ่มที่ได้รับแคปซูลสารสกัดจากส่วนเหนือดินของหญ้าหางม้า (Equisetum arvense L.) ขนาด 900 มก./วัน (1 แคปซูล ประกอบด้วยสารสกัด 450 มก.) และกลุ่มที่ได้รับยา hydrochlorothiazide ขนาด 25 มก./วัน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับแคปซูลสารสกัดหญ้าหางม้า มีค่าความดันโลหิตในขณะที่หัวใจบีบตัว (systolic blood pressure; SBP) และค่าความดันโลหิตในขณะที่หัวใจคลายตัว (diastolic blood pressure; DBP) ลดลง 12.6±4.4 และ 8.1±4.4 มม. ปรอท ตามลำดับ เมื่อเทียบกับค่าเริ่มต้น ขณะที่ในกลุ่มที่ได้รับยา hydrochlorothiazide ค่าความดัน SBP และ DBP ลดลง 12.3±5.0 และ 11.2±3.3 มม. ปรอท ตามลำดับ พบผลข้างเคียงเล็กน้อย ได้แก่ อาการใจสั่น ในผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดหญ้าหางม้า และอาการปวดหัว เวียนศีรษะ ในกลุ่มที่ได้รับยา hydrochlorothiazide แต่ไม่พบความเป็นพิษต่อตับ ไต หรือค่าทางโลหิตวิทยาในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม จากการศึกษาสรุปได้ว่า สารสกัดหญ้าหางม้าสามารถลดความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้เช่นเดียวกับยา hydrochlorothiazide และไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย

Phytomedicine. 2022;99:153955. doi:10.1016/j.phymed.2022.153955.