ผลของสารสกัดกระเทียมดำต่อความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลสูงระดับปานกลาง

การศึกษาแบบสุ่มปกปิดทั้ง 2 ฝ่าย และข้ามกลุ่ม (randomized crossover double-blind trial) ในผู้ป่วยที่มีระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL สูงระดับปานกลาง (≥ 115 มก./ดล.) จำนวน 67 ราย ทั้งเพศชายและเพศหญิง ที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 18 ปี แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานสารสกัดกระเทียมดำ ขนาด 550 มก./เม็ด ครั้งละ 1 เม็ด/วัน (สารสกัดกระเทียมดำ 1 เม็ด ขนาด 550 มก. มีสารสกัดกระเทียมดำ 250 มก. ซึ่งมีสาร S-allyl-L-cysteine 1.25 มก.) กลุ่มที่ 2 รับประทานยาหลอก ในขนาดที่เท่ากัน นาน 6 สัปดาห์ และมีช่วงพัก 3 สัปดาห์ ก่อนการเปลี่ยนกลุ่ม หลังการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดกระเทียมดำความดันโลหิตช่วงหัวใจคลายตัว (diastolic blood pressure : DBP) ลดลง 5.85 มม.ปรอท เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และความดันโลหิตที่ลดลงจะเป็นในกลุ่มผู้ชายที่มี DBP ที่มากกว่า 75 มม.ปรอท จากการศึกษาพบว่าการรับประทานสารสกัดกระเทียมดำ 250 มก. ที่มีสาร S-allyl-L-cysteine 1.25 มก. นาน 6 สัปดาห์ มีผลลดความดันโลหิตในเพศชายที่มี DBP มากกว่า 75 มม.ปรอท ซึ่งอาจมีผลช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลสูงระดับปานกลาง

Nutrients. 2022;14:405:1-18. doi: 10.3390/nu14030405.