การศึกษาแบบสุ่ม และปกปิดทั้ง 2 ฝ่าย ในผู้ป่วยที่มีอาการอาหารไม่ย่อย จำนวน 132 ราย อายุเฉลี่ย 65 ปี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จำนวน 43 ราย ได้รับยา omeprazole 1 แคปซูล วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลุ่มที่ 2 จำนวน 45 ราย รับประทานแคปซูลขมิ้นชันขนาด 500 มก. ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง (หลังอาหารเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน) กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอก จำนวน 44 ราย นาน 4 สัปดาห์ ประเมินผลโดยวัดคะแนนความรุนแรงของอาการอาหารไม่ย่อย (Severity of Dyspepsia Assessment (SODA) score) โดยดูจากอาการปวด อาการที่ไม่เกี่ยวกับการปวด และความพึงพอใจ นอกจากนี้มีการวัดคุณภาพชีวิตโดยเครื่องมือ EuroQol-5 Dimension (EQ-5D) ซึ่งเป็นแบบสอบถาม ในสัปดาห์ที่ 2 และ 4 หลังการศึกษา พบว่า SODA score ในส่วนของอาการปวด และที่ไม่เกี่ยวกับอาการปวดมีค่าลดลงในกลุ่มที่ได้รับแคปซูล ขมิ้นชัน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก ในขณะที่ SODA score ในส่วนของอาการปวดของกลุ่มที่ได้รับแคปซูลขมิ้นชันและกลุ่มที่ได้รับยา omeprazole ไม่มีความแตกต่างกัน ในขณะที่ SODA score ในส่วนของความพึงพอใจ กลุ่มที่ได้รับแคปซูลขมิ้นชันมีค่าสูงสุด นอกจากนี้คะแนนการวัดคุณภาพชีวิตด้วย EQ-5D พบว่ากลุ่มที่ได้รับแคปซูลขมิ้นชันมีค่าสูงสุด แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับอีก 2 กลุ่ม จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า การรับประทานแคปซูลขมิ้นชันขนาด 2,000 มก./วัน สามารถบรรเทาอาการเนื่องจากอาหารไม่ย่อย ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และมีความพึงพอใจในการใช้ได้เทียบเท่ากับยา omeprazole
J Gastroenterol Hepatol. 2022;37:335-41. doi:10.1111/jgh.15705