ผลของน้ำมันเลมอนในการลดกลิ่นปาก

การศึกษาผลของน้ำมันเลมอน (lemon essential oil) ซึ่งสกัดได้จากเปลือกของเลมอน ความเข้มข้น 0563, 1.125, 2.25, 4.5 และ 9 มก./มล. ต่อแบคทีเรีย และการสร้างสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้ (volatile sulphur compounds) ของแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นปาก โดยทดสอบกับน้ำลายของผู้ป่วยที่มีกลิ่นปาก พบว่าน้ำมันเลมอน ความเข้มข้น 2.25, 4.5 และ 9 มก./มล. มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในน้ำลายได้ ซึ่งฤทธิ์แปรผันตามความเข้มข้น สามารถยับยั้งได้ 14.1 ± 5.2, 39.7 ± 6.2 และ 83.2 ± 5.8% ตามลำดับ โดยค่าความเข้มข้นตํ่าสุดของน้ำมันเลมอนที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย (MIC) เท่ากับ 9 มก./มล. น้ำมันเลมอน ความเข้มข้น 0.563 - 4.5 มก./มล. มีผลยับยั้งการเกิด ไบโอฟิล์ม (biofilm) ของแบคทีเรีย และที่ความเข้มข้น 0.563 - 2.25 มก./มล. สามารถลดการสร้างสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้ของแบคทีเรียในน้ำลายได้ และการศึกษาในอาสาสมัคร จำนวน 48 ราย อายุ 26 - 55 ปี ซึ่งมีคะแนนระดับกลิ่นปากจากการวัดด้วย Organoleptic testing มากกว่า 1 (ระดับ 0 : ไม่มีกลิ่นปาก, ระดับ 1 : เริ่มรู้สึกว่ามีกลิ่นปาก, ระดับ 2 : มีกลิ่นปากเล็กน้อย, ระดับ 3 : มีกลิ่นปากปานกลาง, ระดับ 4 : มีกลิ่นปากที่รุนแรง, ระดับ 5 : มีกลิ่นปากที่รุนแรงมาก) และมีปริมาณของสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้ซึ่งตรวจวัดด้วยเครื่องตรวจวัดกลิ่นปากและลมหายใจมีกลิ่น (Halimeter) มากกว่า 180 ppb โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากซึ่งมีน้ำมันเลมอน ความเข้มข้น 0.563 มก./มล. เป็นส่วนประกอบ, กลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปาก 3% hydrogen peroxide (H2O2), กลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปาก 0.1% cetylpyridinium chloride และกลุ่มที่ได้รับน้ำกลั่น โดยให้บ้วนปาก ปริมาณ 10 มล. เป็นเวลา 3 นาที ประเมินผลโดยวัดระดับของสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้ และค่า pH ในน้ำลาย ที่เวลา 30, 45, 60, 90 และ 120 นาที และการตรวจช่องปากโดยทันตแพทย์ พบว่าน้ำมันเลมอนมีผลลดระดับของสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้ในยาวนาน 60 นาที และมีผลเพิ่มค่า pH ในน้ำลาย (pH = 8) ในช่วงเวลา 30 นาที แล้วจะกลับลดลงเป็นค่าปกติ (pH = 7) ในเวลา 120 นาที แสดงว่าน้ำมันเลมอนมีผลในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและลดการสร้างสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้ของแบคทีเรียในน้ำลาย ซึ่งจะช่วยลดกลิ่นปากในผู้ที่มีกลิ่นปากได้

Oral Dis. 2022 Jan 26. doi: 10.1111/odi.14140.