การทดสอบฤทธิ์บรรเทาภาวะอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) ของดอกดาหลาสีแดง (Etlingera elatior (Jack) R.M.Sm) ในหนูแรท โดยแบ่งหนูเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม ได้รับอาหารมาตรฐานตลอดการทดลอง กลุ่มที่ 2 ได้รับอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลฟรุกโตสสูง 29 วัน ตามด้วยอาหารมาตรฐานอีก 29 วัน กลุ่มที่ 3 ได้รับอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลฟรุกโตสสูง 29 วัน ตามด้วยอาหารมาตรฐานที่มีส่วนผสมของดอกดาหลาสด (fresh Etlingera elatior) 33.3% อีก 29 วัน และกลุ่มที่ 4 ได้รับอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลฟรุกโตสสูง 29 วัน ตามด้วยอาหารมาตรฐานที่มีส่วนผสมของดอกดาหลานึ่ง (steamed Etlingera elatior) อีก 33.3% 29 วัน โดยหนูทุกกลุ่มจะได้รับอาหารวันละ 15 ก. เมื่อสิ้นสุดการทดลองพบว่า การได้รับอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลฟรุกโตสสูงนาน 29 วัน ทำให้หนูเกิดภาวะอ้วนลงพุง โดยทำให้ระดับ high-density lipoprotein cholesterol (HDL-C) ลดลง ระดับไตรกลีเซอไรด์, ผลรวมคอเลสเตอรอล, low-density lipoprotein cholesterol (LDL-C), และ malondialdehyde (MDA) สูงขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ในขณะที่การเสริมดอกดาหลาทั้งแบบสดและแบบนึ่งลงในอาหาร สามารถช่วยให้น้ำหนักตัว, ระดับไตรกลีเซอไรด์, ผลรวมคอเลสเตอรอล, LDL-C, และ MDA ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการเหนี่ยวนำด้วยอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลฟรุกโตสสูง มีระดับลดลง และช่วยให้ระดับ HDL-C ที่ลดลง กลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) โดยดอกดาหลาสดมีผลลดน้ำหนักตัวและลดระดับไขมันต่าง ๆ ได้ดีกว่าดอกดาหลานึ่ง จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า การผสมดอกดาหลาลงในอาหาร 1 ใน 3 ส่วน สามารถบรรเทาภาวะอ้วนลงพุงในหนูที่ได้รับอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลฟรุกโตสสูงได้
Curr Nutr Food Sci. 2021;17:727-36. DOI: 10.2174/1573401316666201208101359.