ฤทธิ์รักษาสิวของวุ้นว่านหางจระเข้

การศึกษาประสิทธิภาพของวุ้นว่านหางจระเข้ร่วมกับการใช้คลื่นอัลตร้าซาวน์ในการรักษาสิว ในอาสาสมัครเพศชายและเพศหญิงที่มีปัญหาสิวบนใบหน้าระดับเล็กน้อยถึงมาก (mild to servere) อายุ 20-35 ปี จำนวน 64 คน โดยให้ใช้วุ้นว่านหางจระเข้ทาบนใบหน้าร่วมกับการใช้คลื่นอัลตร้าซาวน์ (ขนาด 20 วัตต์ ความถี่ 50 เฮิร์ต กำลังไฟ 220 โวลต์) เป็นเวลา 10-15 นาที จากนั้นมาร์คหน้าด้วยแผ่นมาร์คเปล่า (ไม่มีส่วนประกอบของตัวยา) นาน 20-30 นาทีแล้วล้างออก ทำ 1 ครั้ง/สัปดาห์ และเพิ่มเป็น 3 ครั้ง/สัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ 2-8 ของการทดสอบ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับเจลยาหลอกร่วมกับการใช้คลื่นอัลตร้าซาวน์ ประเมินผลจากจำนวนสิวแบบผื่นนูน (papules) และแบบตุ่มหนอง (pustules) ด้วย Investigator’s global assessment scale (IGA) และวัดขนาดพื้นที่ผิวหนังอักเสบแดงบนใบหน้าด้วย post-inflammatory hyperpigmentation severity scale (PIH) ผลการทดสอบพบว่าจำนวนของสิวแบบผื่นนูนบนใบหน้าของอาสาสมัครลดลงจาก 84.50±30.78 เป็น 25.53±18.11 พื้นที่ผิวหนังอักเสบแดงจาก 47.28±19.09% ลดลงเหลือ 16.15±12.25% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีผลลดความหยาบกร้านของผิวและเพิ่มการไหลเวียนโลหิตบริเวณใบหน้า การประเมินประสิทธิผลของการรักษาของวุ้นว่านหางจระเข้มีค่าเท่ากับ 30.21-72.05% โดยมีประสิทธิภาพสูงสุดในกลุ่มที่มีสิวความรุนแรงระดับปานกลาง และกลุ่มที่ได้รับยาหลอกพบประสิทธิภาพการรักษาเท่ากับ 6.67-9.31% แสดงให้เห็นว่าการใช้วุ้นว่านหางจระเข้ร่วมกับคลื่นอัลตร้าซาวน์ช่วยลดสิวบนใบหน้าได้

Front Med (Lausanne). 2021;8:662640.