ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในช่องปากของสารกลุ่มไอโซฟลาวานจากชะเอมเทศ

การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในช่องปากของสาร licoricidin และ glabridin สารกลุ่มไอโซฟลาวาน (isoflavans) ที่พบในชะเอมเทศ (Glycyrrhiza glabra L.) ทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก S. mutans (ATCC 25175) และสายพันธุ์ที่แยกได้จากน้ำลายของผู้ป่วย 4 สายพันธุ์ ได้แก่ 12A, 33A, INB, และ T8 ด้วยวิธี broth microdilution assay พบว่าสาร licoricidin มีค่า MIC ต่อเชื้อทั้ง 5 สายพันธุ์เท่ากับ 6.25 และมีค่า MBC ระหว่าง 6.25-25 มคก./มล. ส่วน glabridin มีค่า MIC ระหว่าง 6.25-12.5 มคก./มล และค่า MBC เท่ากับ 6.25-25 มคก./มล. เมื่อทำการทดสอบผลต่อเชื้อ S. mutans ในรูปแบบไบโอฟิล์ม โดยใช้ FilmtracerTM Live/Dead Biofilm Viability kit พบว่าสาร glabridin ที่ความเข้มข้น 2 เท่าของค่า MIC สามารถยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและมีฤทธิ์ดีกว่าสาร licoricidin นอกจากนี้สาร glabridin สามารถยับยั้งการก่อตัวของ dextran ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อตัวของไบโอฟิล์มได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม การทดสอบความสามารถในการยึดเกาะกับ hydroxylapatite บนผิวฟันพบว่าสาร licoricidin และ grabridin ลดการยึดเกาะของเชื้อแบคทีเรียกับ hydroxylapatite บนผิวฟันและลดการสร้างกรดของเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของการฟันผุอย่างมีนัยสำคัญ และการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์เส้นใยเหงือกของมนุษย์ (oral keratinocytes) ด้วยวิธี MTT assay ด้วยการบ่มสารความเข้มข้น 3.125-50 มคก./มล ให้แก่เซลล์เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ไม่พบความเป็นพิษต่อเซลล์ การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสาร licoricidin และ glabridin จากชะเอมเทศมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ป้องกันการเกิดฟันผุ และสามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับช่องปากได้

Antibiotics. 2021;10:163.